คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8506/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รับราชการในกองทัพบกจำเลยที่ 3 และกระทำการในหน้าที่ของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3เป็นส่วนราชการของกองบัญชาการทหารสูงสุดและกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการของจำเลยที่ 3 และเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำในหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0307 นครราชสีมา และ 70-0377 นครราชสีมา จำเลยที่ 1รับราชการทหาร เป็นพนักงานขับรถอยู่ในสังกัดและภายใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหมจำเลยที่ 2 กองทัพบกจำเลยที่ 3 และกองทัพภาคที่ 3 จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ตรากงจักรคันหมายเลขทะเบียน 80439 และ 4580 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตรากงจักรคันหมายเลขทะเบียน 80439 ออกจากจังหวัดนครราชสีมาไปตามถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรี เพื่อไปปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งโดยชอบของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยมีรถยนต์ตรากงจักรคันหมายเลขทะเบียน 4580 แล่นตามมา เมื่อถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 221-222 จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง โดยขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและขับแซงรถยนต์คันที่แล่นนำหน้าในระยะกระชั้นชิดล้ำเข้ามาในช่องเดินรถอีกด้านหนึ่ง ทำให้รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0377นครราชสีมา ของโจทก์ที่แล่นสวนทางมาไม่สามารถหลบได้ทันจึงเกิดชนกันสินค้าบนรถยนต์บรรทุกของโจทก์ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้รถยนต์บรรทุกของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 70-0307 นครราชสีมาซึ่งแล่นตามมาก็ไม่สามารถหลบได้และได้ชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับสินค้าที่บรรทุกมาได้รับความเสียหายเช่นกัน การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เกิดในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 538,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิดซึ่งคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 80,835 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 619,735 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 538,900 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 รับราชการทหารอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นนิติบุคคล ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2และที่ 4 ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0307 นครราชสีมา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด แก่โจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลให้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การภายในกำหนดศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน250,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1เป็นข้าราชการอยู่ในสังกัดจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตรากงจักรหมายเลขทะเบียน 80439 ไปในราชการของจำเลยที่ 3 เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 70-0377 นครราชสีมา และ 70-0307 นครราชสีมา ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการสังกัดจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3เป็นส่วนราชการกองบัญชาการทหารสูงสุด ทั้งจำเลยที่ 3 และกองบัญชาการทหารสูงสุดต่างก็เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่อาจเข้าไปดำเนินการใดในนามจำเลยที่ 3 ได้ จำเลยที่ 1 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 3มิใช่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2503 กำหนดให้กระทรวงกลาโหมมีส่วนราชการคือ กองบัญชาการทหารสูงสุด และกองบัญชาการทหารสูงสุดมีส่วนราชการคือ กองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุดและกองทัพบกต่างก็เป็นนิติบุคคลถึงแม้ส่วนราชการเหล่านี้รวมทั้งกระทรวงกลาโหมจะเป็นนิติบุคคลแต่เป็นนิติบุคคลที่กฎหมายได้กำหนดอำนาจและหน้าที่ไว้ โดยให้กระทรวงกลาโหมควบคุมดูแลกิจการในกองบัญชาการทหารสูงสุดให้เป็นไปโดยความถูกต้องเรียบร้อย และกองบัญชาการทหารสูงสุดควบคุมดูแลกิจการในกองทัพบกให้เป็นไปโดยความถูกต้องเรียบร้อย กระทรวงกลาโหมจึงมีอำนาจควบคุมดูแลกิจการในกองบัญชาการทหารสูงสุดตลอดไปถึงกิจการในกองทัพบก เมื่อจำเลยที่ 1 รับราชการในกองทัพบกจำเลยที่ 3และกระทำการในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 เป็นส่วนราชการของกองบัญชาการทหารสูงสุดและกองบัญชาการทหารสูงสุดเป็นส่วนราชการของกระทรวงกลาโหม จำเลยที่ 2 ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการของจำเลยที่ 3 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 1กระทำในหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 76 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share