คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8397/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า กรมธรรม์นี้จะสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้ผู้อื่นนั้น ต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในวัตถุที่เอาประกันภัยโดยแท้จริงการที่จำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 เช่าซื้อรถยนต์ จากบริษัท จ. แล้วโอนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อแทนโดยมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ คันดังกล่าวนั้น เป็นแต่เพียงจำเลยที่ 2 เข้าสวมสิทธิ แทนจำเลยที่ 3 เท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 4 ในฐานะ ผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทจึงต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ดังกล่าวต่อโจทก์ด้วย แม้โจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมรถยนต์ ของโจทก์โดยขายไปในสภาพที่ถูกชนก็ตาม จำเลยที่ 4 ก็ต้องชดใช้ให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ง – 0477 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 9466 นครสวรรค์ ไปในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวโดยจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วยความเร็วสูง จำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดรถได้ทัน รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมาจึงชนท้ายรถยนต์ของโจทก์ซึ่งมีนายเอนก ชูกลิ่น ขับมาได้รับความเสียหาย หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ตกลงยอมชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ 125,000 บาทแต่จำเลยที่ 4 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน314,107 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 302,307 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ขายรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ไปก่อนเกิดเหตุคดีนี้ อีกทั้งจำเลยที่ 3 มิได้เป็นนายจ้างหรือยินยอมให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 รับประกันภัยรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4จึงไม่ต้องรับผิด เหตุในคดีนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายเอนก และตามกรมธรรม์ประกันภัยสัญญาจะสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยโอนรถยนต์ให้แก่บุคคลอื่น เมื่อจำเลยที่ 3 โอนรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบรับผิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน134,307 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่20 มิถุนายน 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ง – 0477 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 9466 นครสวรรค์ ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ เดิมรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 9466 นครสวรรค์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2536 ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.21 ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 3 ได้โอนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาเช่าซื้อ เอกสารหมาย จ.20 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 9466 นครสวรรค์ จากจำเลยที่ 3 มีระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 14 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 14 มกราคม 2537 ตามสำเนาตารางกรมธรรม์เอกสารหมาย ล.1จำเลยที่ 1 เป็นสามีของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2536 เวลา 5.30 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ป – 9466 นครสวรรค์ มาด้วยความเร็วสูงด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ง – 0477 กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ซึ่งมีนายเอนก ชูกลิ่น เป็นผู้ขับได้รับความเสียหาย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 4ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 9466 นครสวรรค์จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า กรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 1.13 ที่ระบุว่า กรมธรรม์นี้จะสิ้นผลบังคับเมื่อผู้เอาประกันภัยได้โอนรถยนต์ให้ผู้อื่น นั้นต้องเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในวัตถุที่เอาประกันภัย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ป – 9466 นครสวรรค์จากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจ้าพระยา จำกัด แล้วโอนรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อแทน โดยมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว เป็นแต่เพียงจำเลยที่ 2เข้าสวมสิทธิแทนจำเลยที่ 3 เท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์พิพาทจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องค่าเสียหายของโจทก์ แต่คู่ความได้มีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นกระบวนความแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)ประกอบมาตรา 247 สำหรับค่าซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์นั้นศาลฎีกาวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้เสียเงินค่าบริการประเมินการซ่อมไปจริงเป็นจำนวน 2,000 บาท แม้โจทก์ไม่ได้ซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์โดยขายไปในสภาพที่ถูกชนก็ตาม จำเลยที่ 4ก็ต้องชดใช้ให้โจทก์ ดังนั้น รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 134,307 บาท โดยจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 4

Share