แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยต้องผ่านที่ดินของจำเลยตามฟ้อง หรือไม่ คู่ความท้ากันว่าหากทำแผนที่พิพาทได้ข้อเท็จจริง ว่าที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจำเลยยอมแพ้ แต่ถ้าปรากฏว่าที่ดินโจทก์สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ ยอมแพ้คำท้าที่ว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ย่อมหมายความตาม ที่วิญญูชนทั่วไปเข้าใจกล่าวคือ ย่อมหมายความรวมทั้งไม่มี ทางออกและมีทางออกแต่ไม่สามารถใช้ทางออกนั้นได้ เมื่อศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบที่พิพาทปรากฏว่า ที่ดินของโจทก์ ทางด้านทิศใต้อยู่ติดกับทางส่วนบุคคลซึ่งเจ้าของทางไม่อนุญาต ให้โจทก์ทางดังกล่าว ส่วนที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือ ติดกับที่ดินของจำเลย และทิศเหนือติดกับที่ดินของจำเลย เป็นทางสาธารณะประโยชน์ ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ของที่ดินติดกับที่ดินของบุคคลอื่น จากสภาพดังกล่าวถือได้ว่า ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ จำเลยจึงต้อง แพ้คดีตามคำท้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้ยินยอมให้โจทก์และบริวารใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยตลอดแนวด้านทิศตะวันออก กว้าง 4 เมตร ยาว 155 เมตร ให้จำเลยรับเงินค่าทดแทนในการใช้ที่ดินจำนวน 19,375 บาท
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
คู่ความท้ากันและศาลชั้นต้นเผชิญสืบแล้ววินิจฉัยว่าที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ จำเลยจึงต้องแพ้คดีตามคำท้า พิพากษาให้จำเลยเปิดทางในที่ดินจำเลยด้านทิศตะวันออกมีความกว้าง 2 เมตร ยาว 155 เมตร ตลอดแนวให้โจทก์และบริวารใช้เป็นทางผ่าน กับให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนการใช้ที่ดินของจำเลยเป็นเงิน 19,375 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเปิดทางในที่ดินของจำเลยด้านทิศตะวันออก กว้าง 4 เมตร ยาวตลอดแนวประมาณ 155 เมตร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยเพียงประเด็นเดียวว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นตรงตามคำท้าหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวในชั้นชี้สองสถานศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะโดยต้องผ่านที่ดินของจำเลยตามฟ้องหรือไม่ แล้วคู่ความท้ากันว่า หากทำแผนที่พิพาทได้ ข้อเท็จจริงว่าที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยยอมแพ้ แต่ถ้าปรากฏว่าที่ดินโจทก์สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์ยอมแพ้(รายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2537) เมื่อศาลชั้นต้นไปเผชิญสืบที่พิพาทปรากฏว่าที่พิพาทมีสภาพดังปรากฏตามแผนที่ท้ายคำให้การจำเลย และตามที่ปรากฏในท้ายบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 กล่าวคือที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศใต้อยู่ติดกับทางส่วนบุคคลของนายนามเพียเฮียง นายพรม แสนแก้ว และนายธัชวาลย์ สาวิสิทธิ์ซึ่งเป็นเจ้าของทางร่วมกัน และไม่อนุญาตให้โจทก์ผ่านทางดังกล่าวส่วนที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือติดกับที่ดินของจำเลยและทิศเหนือติดกับที่ดินของจำเลยเป็นทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของที่ดินโจทก์ติดกับที่ดินของบุคคลอื่น จากสภาพดังกล่าวถือได้ว่า ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เพราะตามเจตนารมณ์ของคู่ความ คำท้าที่ว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมหมายความตามที่วิญญูชนทั่วไปเข้าใจ กล่าวคือ ย่อมหมายความรวมทั้งไม่มีทางออกและมีทางออกแต่ไม่สามารถใช้ทางออกนั้นได้ จำเลยจึงต้องแพ้คดี การที่จำเลยฎีกาโต้เถียงว่า ตามคำท้าจะต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า มีทาง หรือไม่มีทาง ออกสู่ทางสาธารณะเท่านั้น หากมีทางออกแต่ใช้เป็นทางออกไม่ได้ก็ถือว่ามีทางออกแล้วนั้นเป็นการตีความไปในทำนองเล่นสำนวนโวหาร หาชอบด้วยเจตนารมณ์ของการตีความไม่ เพราะถ้าแปลดังจำเลยว่า การมีทางออกสู่ทางสาธารณะแต่ใช้เป็นทางออกไม่ได้จะแตกต่างอย่างไรกับความหมายที่ว่าไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน