คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง จำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายหรือไม่จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง คำว่าไม่ทราบหรือไม่รับรองนั้นเป็นคำกลาง ๆ ไม่เป็นทั้งคำรับและคำปฏิเสธ กล่าวคือ โจทก์อาจจะเป็นนิติบุคคลจริงตามฟ้องก็ได้ แต่จำเลยทั้งสองไม่ทราบจึงไม่รับรอง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ทั้งมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับฐานะการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้และขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) ให้ถือว่าการกระทำของจำเลยร่วมเป็นการทำแทนซึ่งกันและกัน ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายสุรชัย ตันกาญจนานุรักษ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2522 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไปจำนวน100,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือน กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2522 โดย มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยไม่เคยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเวลา7 ปี 10 เดือน 29 วัน เป็นดอกเบี้ยจำนวน 116,203.50 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 216,203.50 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 216,230.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือนจากต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและมีนายสุรชัยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่ทราบและไม่รับรอง โจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการให้กู้ยืม เดิมโจทก์กับจำเลยที่ 1 เข้าหุ้นส่วนกันประกอบกิจการค้าแต่ขาดทุน โจทก์จึงบังคับให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดอกเบี้ยทั้งหมดตกเป็นโมฆะและเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างส่งกฎหมายกำหนดอายุความ 5 ปี โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราชั่งละ 1 บาทต่อ 1 เดือน (ร้อยละ 15 ต่อปี) นับแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 100,000บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยก่อนฟ้องอัตราเดียวกันเป็นเวลา 5 ปี และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (14 มกราคม 2530)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยทั้งสองคงเหลือเพียงเรื่องอำนาจฟ้อง และการที่จำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ควรมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ ปัญหาข้อแรกเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ จำเลยไม่รับรองจำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยไม่ทราบไม่รับรอง ศาลฎีกาเห็นว่าคำว่าไม่ทราบหรือไม่รับรองนั้นเป็นคำกลาง ๆ ไม่เป็นทั้งคำรับและคำปฏิเสธกล่าวคือ โจทก์อาจจะเป็นนิติบุคคลจริงตามฟ้องก็ได้ แต่จำเลยทั้งสองไม่ทราบจึงไม่รับรอง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงมิได้แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ทั้งมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธนั้น จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าไม่มีประเด็นจะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับฐานะการเป็นนิติบุคคลของโจทก์ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นแล้วกำหนดให้คู่ความสืบพยานจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินกว่าที่จำเป็นต้องกระทำและไม่มีผลแก่คดี อีกทั้งการที่ศาลชั้นต้นหยิบยกประเด็นที่ไม่มีขึ้นวินิจฉัย คู่ความก็จะยกประเด็นที่ไม่มีขึ้นเป็นข้ออุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
สำหรับปัญหาอีกข้อหนึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 2ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้ควรมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้และขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) ให้ถือว่าเป็นการทำแทนซึ่งกันและกัน ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องดอกเบี้ยขึ้นต่อสู้จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงิน 100,000 บาท นับจากวันฟ้องถอยหลังขึ้นไป 5 ปีและดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share