แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่ง พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานขององค์การโทรศัพท์และมาตรา 17 บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา แสดงว่าจำเลยทั้งสองย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่พนักงานตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้
ตามฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และ 11 โดยมุ่งประสงค์ให้ลงโทษตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพียงประการเดียวหาได้ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 157 ดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ศาลก็ต้องยกฟ้อง จะยกบทบัญญัติแห่ง ป.อ. ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับและไม่ได้กล่าวมาในฟ้องขึ้นมาพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้ขอไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษและโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดหรือเป็นเพียงรายละเอียดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3, 4, 11 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินจำนวน 829 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4, 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำคุกคนละ 5 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุกคนละ 3 ปี 9 เดือน คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ให้บทวิเคราะห์ศัพท์คำว่าพนักงานไว้ โดยบัญญัติว่า “พนักงาน” หมายความว่า ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการหรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ โดยได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้น ๆ ทั้งนี้นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย ดังนั้น พนักงานตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวจึงมิใช่เจ้าพนักงานที่เป็นไปตามกฎหมายอื่นอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ซึ่งพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2497 มาตรา 4 บัญญัติว่า “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานขององค์การโทรศัพท์และมาตรา 17 บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ผู้อำนวยการ และพนักงานเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งกฎหมายลักษณะอาญา แสดงว่าจำเลยทั้งสองย่อมเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ใช่พนักงานตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาใช้บังคับลงโทษจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดกรอบอำนาจการพิพากษาหรือการมีคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลไว้ 2 ประการ คือ ห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอประการหนึ่งกับห้ามมิให้ศาลพิพากษาหรือสั่งในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องอีกประการหนึ่ง โดยศาลจะพิพากษาหรือสั่งเกินประการหนึ่งประการใดมิได้ และทั้งสองประการดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดและอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดในฟ้องด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และ (6) ตามลำดับ เมื่อคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157 และ 352 ประกอบกับเมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องแล้วเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 โดยมุ่งประสงค์ให้ลงโทษตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเพียงประการเดียว หาได้ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใดไม่ จึงถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้เป็นเจ้าพนักงานซึ่งจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ศาลก็ต้องยกฟ้อง จะยกบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับและไม่ได้กล่าวมาในฟ้องขึ้นมาพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้ขอไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอทั้งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษและโจทก์สืบสมแต่อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดหรือเป็นเพียงรายละเอียดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน