คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 831/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อความตอนต้น ของสัญญาระบุว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างมีวงเล็บ ชื่อ โจทก์ที่ 2 ต่อ ท้ายชื่อ ของโจทก์ที่ 1 เท่านั้น โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในฐานะ คู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้างโดย ไม่ระบุว่ากระทำแทนโจทก์ที่ 2 การที่จำเลยเป็นผู้จัดทำสัญญานี้ขึ้น โดย ไม่ปรากฏพฤติการณ์ให้เข้าใจว่าโจทก์ที่ 2 เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ดังนี้โจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า การที่จำเลยที่ 1ผิดสัญญาทำให้โจทก์ที่ 1 ได้ รับความ เสียหายคือขาดประโยชน์จากการขายมันเม็ดแข็งแก่ลูกค้าซึ่ง ทำสัญญาซื้อ ไว้กับโจทก์ที่ 1 ภายหลังจากโจทก์ที่ 1 ตกลง ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างเครื่องจักรแล้วเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาท เสียค่าทำแท่นลงเสาเข็มไว้รอรับเครื่องจักรและเสียค่าจ้างเพิ่มในการว่าจ้างให้ผู้อื่นทำเครื่องจักใหม่ โจทก์ขอค่าเสียหายทุกรายการเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ดังนี้เป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงโดย ชัดแจ้งซึ่ง สภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายไม่เคลือบคลุม.

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกนายบุญคุณ จิตรตั้งบุญญา เป็นโจทก์ที่ 1 บริษัทเอี่ยมไพบูลย์ปิโตรเลี่ยม จำกัด เป็นโจทก์ที่ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัดยุทธพงษ์ เป็นจำเลยที่ 1 และนายยงยุทธ พงษ์ภาวศุทธิ์ เป็นจำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและไม่จำกัดความรับผิด เมื่อต้นปี พ.ศ.2524 โจทก์ที่ 1 ได้ตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างเครื่องจักรอัดมันเม็ดชนิดแข็งให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามรูปแบบที่ได้มอบแก่โจทก์ที่1 จำนวน 5 เครื่อง จำเลยที่ 1 สัญญาว่าเครื่องจักรอัดมันเม็ดแต่ละเครื่องดังกล่าวสามารถอัดมันเม็ดชนิดแข็งได้ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ5 ตัน เป็นราคาทั้งสิ้น 1,230,000 บาท ได้ชำระเงินให้จำเลยที่ 1ในวันทำสัญญาจำนวน 500,000 บาท แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาติดตั้งเครื่องจักร จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างได้ทัน และจำเลยที่ 1ขอรับเงินไปอีก 2 ครั้ง จำนวน 420,000 บาท โจทก์ผ่อนผันให้ไป ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 นำเครื่องจักรมาติดตั้งอ้างว่าใกล้จะเสร็จได้ขอรับเงินที่เหลืออีก 310,000 บาท โจทก์ที่ 1 ได้มอบเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้ไป แต่เมื่อทดลองเครื่องจักรทั้ง 5 เครื่องแล้วปรากฏว่าไม่สามารถใช้งานได้ตามสัญญา จำเลยที่ 1 ได้ส่งเครื่องจักรแบบใหม่ชนิด 3 ลูกกลิ้ง จำนวน 2 เครื่องมาติดตั้งแทนถ้าใช้งานได้ดีก็จะเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด แต่ให้โจทก์ที่ 1 ชำระราคาเพิ่มอีกเครื่องละ 80,000 บาท โจทก์ที่ 1 จึงตกลงและชำระราคาสำหรับเครื่องจักรใหม่ไปอีก 100,000 บาท แต่ก็ปรากฏว่าเครื่องจักรใหม่ของจำเลยที่ 1 ใช้งานไม่ได้เช่นเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้ถอดเอาหัวอัดของเครื่องจักรใหม่ไปซ่อม แต่มิได้นำมาติดตั้งและมิได้ซ่อมเครื่องจักรเก่าอีก 3 เครื่อง ซึ่งไม่สามารถใช้งานได้ โจทก์ที่ 1ทวงถามจำเลยที่ 1 หลายครั้ง จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ที่ 1 จึงบอกเลิกสัญญา การผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหาย กล่าวคือ ทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถผลิตมันเม็ดชนิดแข็งจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้ตามสัญญา ต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้โจทก์ที่ 1 ได้เสียเงินค่าทำแท่นรองรับเครื่องจักรของจำเลยที่ 1และต้องเสียค่าจ้างในการว่าจ้างผู้อื่นทำเครื่องจักรให้ใหม่มิฉะนั้นโจทก์ที่ 1 จะถูกถอนใบอนุญาตขยายโรงงานเนื่องจากเครื่องจักรไม่เสร็จและผลิตไม่ได้ตามเงื่อนไข จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินที่จำเลยที่ 1 รับไปจากโจทก์ที่ 1 จำนวน1,020,000 บาท และค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 2,020,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ให้คืนเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา เลขที่ 1266558 สั่งจ่ายเงิน310,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญารับจ้างทำเครื่องจักรอัดมันเม็ดธรรมดา จำนวน 5 ชุด กับโจทก์ที่ 2 ไม่ใช่รับจ้างทำเครื่องจักรอัดมันเม็ดชนิดแข็ง ไม่มีข้อตกลงว่าเครื่องจักรแต่ละเครื่องจะผลิตได้เท่าใด โจทก์ที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยทั้งสอง ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2 มีหน้าที่จะต้องจัดหามอเตอร์ฉุดเครื่องจักรอัดมันเม็ด มอเตอร์ฉุดตัวตีมันเส้น หลุมตีมันเส้นแม่เหล็ก แผงระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ประกอบแผงไฟฟ้า แท่นเครื่องจักรคอนกรีตรองรับเครื่องจักรตามสัญญาให้แล้วเสร็จ แต่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 ทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ทันความล่าช้ามิใช่ความผิดของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้จัดการทดลองเครื่องจักรทั้งหมดแล้วปรากฏว่าใช้การได้ดี โจทก์ที่ 2 ได้รับเครื่องจักรทั้ง 5 เครื่อง ไว้โดยมิได้ทักท้วง และได้ชำระเงินที่เหลือจำนวน 420,000 บาท กับค่าเปลี่ยนระบบจากสายพานเป็นสกรูอีก 10,000 บาท รวมเป็นเงิน430,000 บาท ด้วยตั๋วแลกเงินและเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมา จำนวนเงิน 120,000 บาท และ 310,000 บาท ตามลำดับคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 เกี่ยวกับค่าเสียหายไม่ได้บรรยายว่าเสียหายตามสัญญาเดิมหรือที่เกี่ยวกับการซื้อหัวอัดมันเม็ดภายหลังเครื่องจักรเสียหายแต่ละเครื่องอย่างไร เท่าใด ลูกค้าเป็นใคร เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย และคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ขาดอายุความ
สำนวนที่สอง จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยว่า โจทก์ที่ 2 โดยโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการ ได้ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ผลิตเครื่องจักรอัดมัน 5 ชุด รวมราคาทั้งสิ้น1,220,000 บาท จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างเครื่องจักรดังกล่าวเสร็จสิ้นมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 เรียบร้อยตามสัญญา ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้ขอเปลี่ยนอุปกรณ์จากระบบสายพานเป็นระบบสกรู ซึ่งต้องเพิ่มเงินอีก10,000 บาท โจทก์ที่ 2 ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 รวม 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 ได้ชำระเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมาลงวันที่ 20 มกราคม 2525 จำนวนเงิน 310,000 บาท และจ่ายเป็นตั๋วแลกเงินจำนวน 120,000 บาท ต่อมาโจทก์ที่ 2 ได้สั่งระงับการจ่ายเงินตามเช็คอ้างว่าเครื่องจักรใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ทวงถามโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 ไม่ยอมชำระ และได้สั่งซื้อเครื่องจักรอัดมันเม็ดรุ่นใหม่อีก 2 เครื่อง โดยเอาเครื่องจักรเดิมมาแลกเปลี่ยนและเพิ่มเงินให้เครื่องละ 80,000 บาท โจทก์ที่ 2 ได้ชำระเงินให้แล้ว100,000 บาท ยังค้างราคาเครื่องจักรใหม่รวม 60,000 บาท เมื่อรวมกับเงินตามเช็คด้วยคงค้างทั้งสิ้น 370,000 บาท โจทก์ที่ 2 ต้องชำระให้จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่เดือนกรกฎาคม 2525 ถึงวันฟ้อง คิดรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 404,687.50 บาทจึงขอให้บังคับโจทก์ที่ 2 ชำระเงินจำนวน 404,687.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 370,000 บาท
โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในสำนวนที่ 2 ให้การว่า ไม่เคยทำสัญญาตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ความจริงเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาในฐานะส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ ต่อกัน จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างเครื่องจักรอัดมันเม็ดแข็งและอุปกรณ์จำนวน 5 เครื่อง ไม่ใช่เครื่องจักรอัดมันเม็ดนิ่มดังที่จำเลยที่ 1ฟ้อง แต่เครื่องจักรที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างนั้นใช้งานไม่ได้ ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหาย โจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยทั้งสองตามสำนวนแรก โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เกี่ยวข้อง จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินและดอกเบี้ยจากโจทก์ที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าจ้างทำของจำนวน1,020,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขานครราชสีมาสั่งจ่ายเงิน 310,000 บาท ให้แก่โจทก์ ส่วนสำนวนที่ 2 ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 ถึงแก่มรณะศาลอุทธรณ์อนุญาตให้นายทวิช จิตตั้งบุญญา เข้าเป็นคู่ความแทนที่
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์ที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อความในตอนต้นของสัญญาว่าจ้างทำเครื่องอัดมันเม็ดเอกสารหมาย จ.28 ได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง เพียงแต่มีวงเล็บชื่อโจทก์ที่ 2 ต่อท้ายชื่อของโจทก์ที่ 1 ไว้ด้วยเท่านั้นโดยมิได้มีข้อความระบุว่าโจทก์ที่ 1ได้กระทำในฐานะผู้กระทำการแทนโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ที่ได้ลงชื่อไว้ตอนท้ายของสัญญาดังกล่าวในฐานะคู่สัญญาฝ่ายผู้ว่าจ้างก็ไม่มีระบุว่าได้กระทำแทนโจทก์ที่ 2 โดยเฉพาะสัญญาฉบับพิพาทเอกสารหมาย จ.28 ดังกล่าว เป็นเอกสารสัญญาที่จำเลยที่ 1โดยนายพิชา ปิ๋วสวัสดิ์ ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำขึ้น หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์ที่ 1 กระทำในฐานะผู้กระทำการแทนโจทก์ที่ 2 แล้ว ก็น่าจะได้ระบุว่าโจทก์ที่ 1 ได้กระทำในฐานะผู้แทนของโจทก์ที่ 2 ไว้ให้ชัดแจ้ง ดังนั้น เพียงแต่การระบุชื่อของโจทก์ที่ 2 ไว้ในวงเล็บถัดจากชื่อโจทก์ที่ 1 ในตอนต้นของสัญญา แต่ในท้ายสัญญาคงปรากฏลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 โดยไม่ปรากฏข้อความว่าเป็นการลงชื่อในฐานะผู้กระทำการแทนโจทก์ที่ 2 จึงไม่ปรากฏพฤติการณ์ใดอันจะทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1ซึ่งเหตุผลดังกล่าวศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้วจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นคู่สัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างทำของกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฉบับพิพาท โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง… ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าฟ้องของโจทก์ที่ 1 เคลือบคลุมในส่วนค่าเสียหายนั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ได้บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายคือขาดประโยชน์จากการขายมันเม็ดแข็งให้แก่ลูกค้าที่ทำสัญญาซื้อไว้กับโจทก์ที่ 1 ภายหลังจากโจทก์ที่ 1 ตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ก่อสร้างเครื่องจักรอัดมันเม็ดแข็งเป็นจำนวนหลายล้านบาท เสียเงินทำแท่นลงเข็มไว้รอรับเครื่องจักร และเสียค่าจ้างเพิ่มในการว่าจ้างผู้อื่นให้ทำเครื่องจักรใหม่ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายรวมทุกรายการเพียง 1,000,000 บาท ซึ่งเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ที่ 1 และคำขอให้บังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1ในส่วนค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม…
พิพากษายืน.

Share