คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8264/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแจ้งเหตุขัดข้องต่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งขึ้น แต่ย่อมเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใดจะแจ้งเหตุที่ทำให้ตนไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลดังกล่าวได้นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศชื่อผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 21 หรือแจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควรเสียก่อน หากคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ประกาศชื่อผู้นั้นเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 22 หน้าที่ในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2543 ผู้ร้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว 15 นาที เนื่องจากเครื่องบินโดยสารล่าช้าผู้ร้องจึงไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าว ผู้ร้องย่อมอยู่ในฐานะที่อาจแจ้งเหตุที่ตนไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 22 แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังการเลือกตั้งแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่นได้ออกประกาศฉบับลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุ หรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิได้เป็นเหตุอันสมควร โดยไม่มีชื่อผู้ร้องอยู่ในประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ว่าการไม่มีชื่อผู้ร้องในประกาศฉบับนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุใดก็ตาม หน้าที่ของผู้ร้องในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 22 จึงยังไม่เกิดขึ้น จะถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 22 ไม่ได้ผู้ร้องจึงไม่เสียสิทธิตามมาตรา 23 (3) แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมาย และได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งที่ ๔ จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ไม่มีชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งดังกล่าวเนื่องจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งให้เหตุผลว่าผู้ร้องไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ อันเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งสุดท้ายของจังหวัดขอนแก่นและไม่แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเหตุความจริงผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันดังกล่าว แต่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่ยอมให้ผู้ร้องใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยอ้างว่าผู้ร้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งแล้วภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่นได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิไปเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุหรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิได้เป็นเหตุอันสมควรปรากฏว่าไม่มีชื่อผู้ร้องอยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ผู้ร้องจึงไม่เสียสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ ๔ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ เนื่องจากผู้ร้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งหลังจากปิดการลงคะแนนเลือกตั้งและงดจ่ายบัตรเลือกตั้งแล้ว ๑๕ นาทีทั้งผู้ร้องไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเหตุ ผู้ร้องจึงเสียสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ มาตรา ๒๓ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นสืบพยานแทนศาลฎีกาแล้ว
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านแถลงรับต่อศาลชั้นต้นว่า ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาประจำจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ ผู้ร้องได้ไปถึงหน่วยเลือกตั้งเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว๑๕ นาที เนื่องจากผู้ร้องมีกิจธุระที่กรุงเทพมหานครในวันดังกล่าวและเครื่องบินโดยสารที่ผู้ร้องเดินทางกลับไปจังหวัดขอนแก่นล่าช้า กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งจึงไม่จ่ายบัตรเลือกตั้งให้ผู้ร้องลงคะแนน แต่ผู้ร้องได้ขอให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งบันทึกไว้ในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในช่องลายมือชื่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งว่า ผู้ร้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งภายหลังปิดการเลือกตั้ง ๑๕ นาที พร้อมทั้งให้ผู้ร้องลงลายมือชื่อไว้ด้วย หลังจากนั้นผู้ร้องมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นลายลักษณ์อักษรต่อบุคคลผู้มีอำนาจรับแจ้ง เมื่อครบกำหนดสามสิบวันหลังจากวันเลือกตั้งแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่นได้ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิไปเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุหรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิได้เป็นเหตุอันควรตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่นฉบับลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ปรากฏว่าไม่มีชื่อผู้ร้องในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ผู้ร้องยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในเขตเลือกตั้งที่ ๔จังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ผู้คัดค้านไม่รับสมัครและแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ และไม่แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งเหตุ จึงเสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑มาตรา ๒๓ คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐มาตรา ๖๘ บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑มาตรา ๒๓ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๒๑ หรือมาตรา๒๒ หรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามมาตรา ๖๘ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ให้ผู้นั้นเสียสิทธิดังต่อไปนี้
(๓) สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น”
การพิจารณาว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใดที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิตามมาตรา ๒๓ นั้น จำต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุขัดข้องที่ทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๒๑ และ มาตรา ๒๒ ประกอบด้วยโดยมาตรา ๒๑ ได้บัญญัติถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการแจ้งเหตุขัดข้องก่อนการเลือกตั้งมีสาระสำคัญว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใดมีเหตุขัดข้องอยู่แล้วก่อนวันเลือกตั้ง และเป็นเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ผู้นั้นมีหน้าที่แจ้งเหตุที่ทำให้ตนไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เพื่อให้บุคคลดังกล่าวพิจารณาว่าเหตุขัดข้องที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยกขึ้นอ้างในการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ แล้วแจ้งคำวินิจฉัยนั้นให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบไม่น้อยกว่าสามวันก่อนวันเลือกตั้งในกรณีที่เหตุขัดข้องนั้นเป็นเหตุอันควรที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นย่อมไม่ถูกตัดสิทธิตามมาตรา ๒๓ แต่หากเหตุผลที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยกขึ้นอ้างเพื่อไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ใช่เหตุอันควร ผู้นั้นย่อมเสียสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว ส่วนในกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ชิดกับกำหนดเวลาเลือกตั้ง และไม่สามารถแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งไว้ประจำแต่ละเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑มาตรา ๒๑ นั้น มาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติทางแก้ไว้โดยกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกประกาศเมื่อครบกำหนดสามสิบวันหลังจากวันเลือกตั้ง ระบุรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมิได้แจ้งเหตุตามมาตรา ๒๑ หรือแจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าวแจ้งเหตุที่ตนไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งขึ้นภายในหกสิบนับแต่วันประกาศเพื่อพิจารณาว่าเหตุผลที่ผู้นั้นอ้างว่าเป็นเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นเหตุอันควรหรือไม่ ในกรณีที่เป็นเหตุอันควรผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นย่อมไม่เสียสิทธิตามมาตรา ๒๓ แต่ถ้าเหตุผลดังกล่าวไม่ใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติ อย่างไรก็ตามแม้กฎหมายจะบัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแจ้งเหตุขัดข้องต่อบุคคลที่คณะกรรมการเลือกตั้งแต่งตั้งขึ้น แต่ย่อมเป็นที่เห็นได้อยู่ในตัวว่าการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายใดจะแจ้งเหตุที่ทำให้ตนไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลดังกล่าวได้นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศชื่อผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุตามมาตรา๒๑ หรือแจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควรเสียก่อน หากคณะกรรมการการเลือกตั้งยังมิได้ประกาศชื่อผู้นั้นเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๒๒ หน้าที่ในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้น สำหรับคดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๔๓ผู้ร้องไปถึงหน่วยเลือกตั้งเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาลงคะแนนเลือกตั้งแล้ว๑๕ นาที เนื่องจากเครื่องบินโดยสารล่าช้า ผู้ร้องจึงไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งดังกล่าวผู้ร้องย่อมอยู่ในฐานะที่อาจแจ้งเหตุที่ตนไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งขึ้นตามมาตรา ๒๒ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังการเลือกตั้งแล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่นได้ออกประกาศฉบับลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๔๓ ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและไม่แจ้งเหตุ หรือแจ้งเหตุแล้วแต่เหตุนั้นมิได้เป็นเหตุอันสมควร โดยไม่มีชื่อผู้ร้องอยู่ในประกาศดังกล่าวทั้งนี้ไม่ว่าการไม่มีชื่อผู้ร้องในประกาศฉบับนั้นเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุใดก็ตาม หน้าที่ของผู้ร้องในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๒๒ จึงยังไม่เกิดขึ้น จะถือว่าผู้ร้องเป็นผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๒๒ ไม่ได้ ผู้ร้องจึงไม่เสียสิทธิตามมาตรา ๒๓ (๓) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๔๑ที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
จึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ในเขตเลือกตั้งที่ ๔ จังหวัดกาฬสินธุ์.

Share