คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8240/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มาตรา 29 บัญญัติว่า บุคคลซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ ซึ่งตามมาตรา 107 (3) กำหนดไว้ว่า ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า แสดงว่ามุ่งประสงค์ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเป็นสำคัญ ตามหลักฐานแสดงผลการศึกษาที่ผู้ร้องอ้างส่งประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร้องสอบได้ครบถ้วนทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีแล้ว ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏว่าด้วยการออกหลักฐานแสดงผลการศึกษา พ.ศ. 2538 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในข้อ 8 ว่า “วันที่สำเร็จการศึกษาในหลักฐานแสดงผลการศึกษา ให้ถือเอาวันที่คณะกรรมการอนุมัติผลการศึกษา” ส่วนการออกปริญญาบัตรซึ่งจะต้องดำเนินการต่อไปได้กำหนดไว้ในข้อ 9 เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งแยกจากกัน และตามหนังสือตอบข้อหารือของอธิการบดีสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการวิชาการซึ่งสภาประจำสถาบันมอบหมายได้ประชุมอนุมัติผลการศึกษาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 สถาบันราชภัฏถือว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 คือวันที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้ง เป็นวันสำเร็จการศึกษา และวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 เป็นวันอนุมัติปริญญา อันเป็นไปตามลำดับขั้นตอนในระเบียบคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏดังกล่าว กรณีจึงต้องถือว่า ผู้ร้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าแล้วในวันสมัคร มีคุณสมบัติในเรื่องความรู้ครบถ้วนตามที่กฎหมายต้องการแล้ว การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยถือว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 107 (3) เป็นการไม่ชอบ
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 มาตรา 34 บัญญัติให้ผู้สมัครยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นรับค่าธรรมเนียมศาลไว้จึงไม่ถูกต้อง
(คำสั่งศาลฎีกา)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมาย และได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ในเขตเลือกตั้งที่ ๑จังหวัดระนอง แต่ไม่มีชื่อของผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในประกาศของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งรับสมัครผู้ร้องและประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๗ (๓)
ศาลชั้นต้นได้สืบพยานแทนแล้วส่งศาลฎีกาวินิจฉัย
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ผู้ร้องได้ยื่นใบรายงานผลการศึกษาของสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระดับศิลปศาสตร์บัณฑิต เอกสารหมาย ร.๒และ ค.๓ ซึ่งระบุหมายเหตุว่า “รออนุมัติปริญญา” เป็นหลักฐานประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง ในวันเดียวกันนั้น ผู้คัดค้านได้ทำหนังสือหารือเกี่ยวกับคุณวุฒิการศึกษาของผู้ร้องตามเอกสารหมาย ค.๔ ไปยังอธิการบดีสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ อธิการบดีสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้มีหนังสือตอบข้อหารือตามเอกสารหมาย ค.๕ ว่าสถาบันถือว่าวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เป็นวันที่ผู้ร้องสำเร็จการศึกษาแต่การอนุมัติปริญญาถือเอาวันประชุมสภาประจำสถาบันเป็นหลัก (กำหนดประชุมสภาฯ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓) ผู้คัดค้านจึงได้มีหนังสือหารือเกี่ยวกับคุณวุฒิของผู้ร้อง ไปยังประธานกรรมการการเลือกตั้งตามเอกสารหมาย ค.๖ ว่า จะออกใบรับ ส.ส. ๒๒/ข (แบบแจ้งการรับสมัคร) หรือ๒๓/ข (แบบแจ้งการไม่รับสมัคร) ให้แก่ผู้ร้อง นายยุวรัตน์ กมลเวชชกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการการเลือกตั้งได้โทรสารตอบข้อหารือตามเอกสารหมาย ค.๗ ว่า หากได้รับคำยืนยันจากสถาบันราชภัฏว่า ผู้ร้องได้รับอนุมัติปริญญามีผลตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันยื่นใบสมัคร ผู้คัดค้านสามารถใช้ดุลพินิจประกาศการรับสมัครได้ ผู้คัดค้านจึงได้มีหนังสือสอบถามอธิการบดีสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีตามเอกสารหมาย ค.๘ ซึ่งอธิการบดีสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้มีหนังสือตอบมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ตามเอกสารหมาย ค.๙ ว่า สถาบันได้อนุมัติผลการศึกษาของผู้ร้องเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ และอนุมัติปริญญาบัตรเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ซึ่งผู้คัดค้านเห็นว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๗ (๓) จึงได้มีหนังสือแจ้งการไม่รับสมัครตามเอกสารหมาย ร.๑ แก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำร้องและคำคัดค้านว่า ผู้ร้องขาดคุณสมบัติเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา ๑๐๗ (๓) หรือไม่ เห็นว่า มาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติว่า บุคคลซึ่งจะมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังนั้น การพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งตามมาตรา ๑๐๗ (๓) กำหนดไว้ว่าต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า แสดงว่ามุ่งประสงค์ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้มีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าเป็นสำคัญ ตามหลักฐานแสดงผลการศึกษาที่ผู้ร้องอ้างส่งประกอบการสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ร้องสอบได้ครบถ้วนทุกลักษณะวิชาตามหลักสูตรสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานีแล้ว ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏว่าด้วยการออกหลักฐานแสดงผลการศึกษา พ.ศ. ๒๕๓๘เอกสารหมาย ค.๑๑ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ในข้อ ๘ ว่า “วันที่สำเร็จการศึกษาในหลักฐานแสดงผลการศึกษา ให้ถือเอาวันที่คณะกรรมการอนุมัติผลการศึกษา” ส่วนการออกปริญญาบัตรซึ่งจะต้องดำเนินการต่อไปได้กำหนดไว้ในข้อ ๙ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งแยกจากกัน และตามหนังสือตอบข้อหารือของอธิการบดีสถาบันราชภัฏสุราษฎร์ธานี เอกสารหมาย ค.๕ และ ค.๙ ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการวิชาการซึ่งสภาประจำสถาบันมอบหมายได้ประชุมอนุมัติผลการศึกษาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ สถาบันราชภัฏถือว่าวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ คือวันที่ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้ง เป็นวันสำเร็จการศึกษา และวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ เป็นวันอนุมัติปริญญาอันเป็นไปตามลำดับขั้นตอนในระเบียบคณะกรรมการสภาสถาบันราชภัฏเอกสารหมาย ค.๑๑ ดังกล่าว กรณีจึงต้องถือว่า ผู้ร้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าแล้วในวันสมัคร มีคุณสมบัติในเรื่องความรู้ครบถ้วนตามที่กฎหมายต้องการแล้ว การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยถือว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๑๐๗ (๓) เป็นการไม่ชอบ
อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๓๔บัญญัติให้ผู้สมัครยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นรับค่าธรรมเนียมศาลไว้จึงไม่ถูกต้อง
จึงมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครผู้ร้อง และประกาศให้ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามกฎหมาย กับคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้อง.

Share