คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530มาตรา 10 ได้กำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจตกลงซื้อขาย กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ และจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นได้ว่าผู้ที่ต้องจ่ายค่าทดแทน คือเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เมื่อการเวนคืนรายนี้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34-บางบ่อ พ.ศ. 2525 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นเพียงผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเท่านั้นไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด นายยก ตั้งตรงศักดิ์และนายทรง พรรณอุไร ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่2378 ตำบลบางบ่อ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวถูกทางหลวงแผ่นดินสายเลี่ยงเมืองตัดผ่านเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาจ่ายเงินค่าทดแทนให้บริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 8,100 บาทซึ่งไม่ถูกต้อง บริษัทโรซ่าผลิตภัณฑ์อาหาร (ประเทศไทย) จำกัดมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจำนวน 23,004 บาท คงขาดไปเป็นเงิน14,904 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้อีกจำนวน14,904 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาและไม่ได้เป็นคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ยินยอมและพอใจในจำนวนเงินค่าทดแทนโดยมิได้สงวนสิทธิโต้แย้งไว้ จำเลยมิได้กระทำการใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้โจทก์ไปโดยสุจริต โจทก์รับเงินค่าทดแทนไปแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 14,904 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การเวนคืนรายนี้ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงจังหวัดสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34-บางบ่อ พ.ศ. 2525 กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้อธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา10 ได้กำหนดอำนาจของเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มีอำนาจตกลงซื้อขาย กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์และจ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นได้ว่า ผู้ที่ต้องจ่ายค่าทดแทนคือเจ้าหน้าที่หรือผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีกรมทางหลวงเป็นเจ้าหน้าที่ จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ ส่วนจำเลยซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นเพียงผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าทดแทน
พิพากษายืน

Share