แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น จะมีมูลกรณีสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าฉบับเดียวกัน และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเดียวกันก็ตาม แต่การทำงานตามสัญญาจ้างฉบับเดียวกัน แม้ต้องกระทำต่อเนื่องกันไป ตามสัญญาหากลักษณะของความผิดตามฟ้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกันและต่างขั้นตอนกัน ซึ่งสามารถแยกการกระทำแต่ละอันออกต่างหากจากกันได้ ทั้งเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 นำสืบรับกันได้ความว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของโจทก์ตามสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีการกำหนดแบบการก่อสร้างและประเภทกับขอบเขตของงานที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาไว้อย่างชัดแจ้งโดยจำเลยที่ 1 จะจัดทำรายละเอียดความคืบหน้าของงานและใบส่งมอบงาน ส่งมอบให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ทุกเดือนไปและโจทก์จะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ตามผลงานที่ทำได้จริงในแต่ละงวดดังกล่าวภายใต้การควบคุมงานและการตรวจสอบความถูกต้องของงานกับเอกสารที่เกี่ยวข้องของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ซึ่งโจทก์มอบหมายให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับและผู้ควบคุมงานจ้าง ส่วนการทำงานเกี่ยวกับการทำหม้อไอน้ำเพิ่มเติมตามฟ้องโจทก์ในคดีนี้ก็เป็นการทำงานในส่วนที่ที่ประชุมบริษัทโจทก์มีมติให้ทำเพิ่มเติมขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ดีขึ้น โดยโจทก์ตกลงจะช่วยเหลือเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มจากที่ประมาณการไว้ 14,400,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในการทำงานส่วนที่เกี่ยวกับการทำหม้อไอน้ำเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยการควบคุมงานกับการตรวจสอบความถูกต้องของงานดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ตามฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น อันเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องกระทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้า และส่งมอบงานที่จำเลยที่ 1 ทำคืบหน้าไปในแต่ละเดือนให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ทุกเดือนภายใต้การควบคุมงานและการตรวจสอบความถูกต้องของงานของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ซึ่งสามารถแยกการทำงานในแต่ละคดีดังกล่าวต่างหากจากกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งเก้าในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกันและมุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตามฟ้องโจทก์ คดีนี้จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, 86, 90, 91 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554 และ 218/2555 นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 4 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554, 2347/2554 และ 218/2555 ตามลำดับ นับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 8 ที่ 3 และที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554, 2347/2554 และ 218/2555 ตามลำดับ นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 9 ที่ 4 และที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554, 2347/2554 และ 218/2555 ตามลำดับ นับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2347/2554 และ 218/2555 ตามลำดับ นับโทษจำเลยที่ 6 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 10 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554 และ 2347/2554 และต่อจากโทษของจำเลยที่ 7 ในคดีหมายเลขดำที่ 218/2555 ตามลำดับ นับโทษจำเลยที่ 7 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 11 และที่ 8 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554 และ 218/2555 ตามลำดับ นับโทษจำเลยที่ 8 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 12 และที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554 และ 218/2555 ตามลำดับ และนับโทษจำเลยที่ 9 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 10 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 218/2555 ของศาลชั้นต้น
ระหว่างนัดไต่สวนมูลฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 4 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องคดีนี้เป็นการกระทำคราวเดียวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1859/2554 หมายเลขแดงที่ 4510/2556 และเป็นสัญญาฉบับเดียวกับสัญญาจ้างที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเก้าเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 602/2555 หมายเลขแดงที่ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงทั้งสามสำนวนดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งเดียวกัน สัญญาก่อสร้างทั้งหมดเป็นการผิดสัญญาคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งเก้าจึงเป็นการกระทำเดียวกัน เมื่อคดีสองสำนวนดังกล่าวข้างต้น ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมา ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 มิได้ฎีกาโต้เถียงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายทวีป เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการและลูกจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 5 เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของโจทก์ จำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นและลูกจ้างของโจทก์ จำเลยที่ 7 เป็นลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งวิศวกรควบคุมเครื่องกล จำเลยที่ 8 เป็นผู้ถือหุ้นและลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า จำเลยที่ 9 เป็นกรรมการของโจทก์รับผิดชอบด้านบัญชีและการเงินของโจทก์ เกี่ยวกับการทำงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้าง โจทก์ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 เป็นคณะกรรมการตรวจรับงานจ้าง มอบหมายให้จำเลยที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 เป็นผู้ควบคุมงานเหมาโดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้ควบคุมงานด้านวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรม จำเลยที่ 7 เป็นผู้ควบคุมงานด้านวิศวกรรมเครื่องกล จำเลยที่ 8 เป็นผู้ควบคุมงานด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและมอบหมายให้จำเลยที่ 9 เป็นผู้ประสานงานเรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าจ้าง เดิมจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 และที่ 8 เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทโจทก์ ต่อมาได้ชักชวนนายทวีปเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงทางปาล์มและทะลายปาล์มขนาด 9.5 เมกะวัตต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายทวีปเข้าร่วมลงทุนและเข้าเป็นผู้ถือหุ้นของโจทก์ซึ่งต่อมาได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามสัญญาโจทก์ได้มีการประชุมการทำงานและติดตามความคืบหน้าของงาน ซึ่งที่ประชุมมีมติว่าในส่วนที่เกี่ยวกับหม้อไอน้ำ (BOILER) ให้เพิ่มพื้นที่รับความร้อน (SURFACE AREA) เพื่อแลกเปลี่ยนความร้อนเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ และ ECONOMIZER ขนาดเพิ่มขึ้นสองเท่า ทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้นกับมีมติให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มจากประมาณการ 14,400,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดตามสรุปการประชุมบริษัทโจทก์ครั้งที่ 14, 15, 17 และ 18/2550 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ส่งใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าจ้างจากโจทก์และโจทก์โดยนายทวีปอนุมัติให้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น จะมีมูลกรณีสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าฉบับเดียวกันและโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเดียวกันก็ตาม แต่การทำงานตามสัญญาจ้างฉบับเดียวกัน แม้ต้องกระทำต่อเนื่องกันไปตามสัญญา หากลักษณะของความผิดตามฟ้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกันและต่างขั้นตอนกันซึ่งสามารถแยกการกระทำแต่ละอันออกต่างหากจากกันได้ ทั้งเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผล ต่างกรรมกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 นำสืบรับกันได้ความว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของโจทก์มีการกำหนดแบบการก่อสร้างและประเภทกับขอบเขตของงานที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาไว้อย่างชัดแจ้ง โดยจำเลยที่ 1 จะจัดทำรายละเอียดความคืบหน้าของงานและใบส่งมอบงาน ส่งมอบให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ทุกเดือนไปและโจทก์จะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ตามผลงานที่ทำได้จริงในแต่ละงวดดังกล่าวภายใต้การควบคุมงานและการตรวจสอบความถูกต้องของงานกับเอกสารที่เกี่ยวข้องของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ซึ่งโจทก์มอบหมายให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับและผู้ควบคุมงานจ้าง ส่วนการทำงานเกี่ยวกับการทำหม้อไอน้ำเพิ่มเติมตามฟ้องโจทก์ในคดีนี้ก็เป็นการทำงานในส่วนที่ที่ประชุมบริษัทโจทก์มีมติให้ทำเพิ่มเติมขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ดีขึ้น โดยโจทก์ตกลงจะช่วยเหลือเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มจากที่ประมาณการไว้ 14,400,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จะต้องมีเงื่อนไขว่า (1) การที่ราคาเพิ่มขึ้นทำให้ประสิทธิภาพดีขึ้น ให้จำเลยที่ 1 CHECK HEAT BALANCE และ GUARANEE HEAT RATE พร้อมปริมาณการใช้เชื้อเพลิงให้โจทก์อย่างเป็นทางการเพื่อทำเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา (2) ให้จำเลยที่ 1 ส่งรายละเอียดสัญญา รายละเอียด ENGINEERING ของศรีเจริญไบโอเพาเวอร์เพื่อเปรียบเทียบกับของโจทก์ (3) ให้จำเลยที่ 1 ส่งรายละเอียด SPEC พร้อม BOQ ทั้งหมดให้โจทก์เพิ่มเติมอย่างละเอียดอีกครั้ง (4) จะต้องไม่มีการเพิ่มราคาจากจำเลยที่ 1 อีก และจะต้องไม่ตัดรายละเอียดอย่างอื่นเพื่อลด COST และ (5) โจทก์จะช่วยเหลือภายหลังที่งานได้แล้วเสร็จตามกำหนดและประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถืออยู่ในเกณฑ์ที่ดี หากเสร็จก่อนเวลาอาจจะมี BONUS พิเศษ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในการทำงานส่วนที่เกี่ยวกับการทำหม้อไอน้ำเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยการควบคุมงานกับการตรวจสอบความถูกต้องของงานดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ตามฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น อันเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องกระทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้า และส่งมอบงานที่จำเลยที่ 1 ทำคืบหน้าไปในแต่ละเดือนให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ทุกเดือนภายใต้การควบคุมงานและการตรวจสอบความถูกต้องของงานของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ซึ่งสามารถแยกการทำงานในแต่ละคดีดังกล่าวต่างหากจากกันได้ และการกระทำตามฟ้องคดีนี้ก็เป็นการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในการประชุมเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 และวันที่ 30 กรกฎาคม 2550 ตามรายงานการประชุมดังกล่าวและต่อเนื่องไปถึงการเบิกค่าจ้างของงานส่วนนี้เป็นเท็จโดยจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ให้การสนับสนุน การกระทำของจำเลยทั้งเก้าในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกันและมุ่งประสงค์ให้มีผล ต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตามฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน