แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เยาว์เมื่อได้รับความยินยอมจากบิดาแล้ว ก็ย่อมเป็นโจทก์ฟ้องคดีขอไถ่ถอนการขายฝากจากผู้รับซื้อฝากได้โดยลำพังตนเอง
บิดาและผู้เยาว์ทำสัญญาขายที่ดินของผู้เยาว์ ให้แก่ผู้ซื้อได้รับเงินมัดจำกันแล้วส่วนหนึ่งในวันนั้น ตกลงกันว่า เมื่อผู้เยาว์อายุครบ 20 ปี จะไปทำสัญญาโอนขายกันยังหอทะเบียนที่ดิน ดังนี้เมื่อไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อน บิดาก็ไม่มีอำนาจทำสัญญาขายหรือจะขายอสังหาริมทรัพย์ของบุตรผู้เยาว์ได้ ฉะนั้นจึงไม่ผูกพันผู้เยาว์(อ้างฎีกาที่ 462/2488)
ย่อยาว
คดีได้ความว่า นางสาวสุบินโจทก์บุตรนายมี มีกรรมสิทธิที่ดินโฉนดที่ ๒๒๖๔ นายมีในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวสุบินผู้เยาว์ได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ขายฝากที่ดินรายนี้ไว้กับนางขำจำเลยเป็นเงิน ๑๒๐๐ บาท ต่อมาอีกราม ๒ ปี นายมีนางสาวสุบินได้ทำสัญญาขายที่ดินแปลงนี้ให้กับนางขำเป็นเงิน ๔๐๐๐ บาท ได้รับเงินมัดจำจากนางขำไปวันนั้น เป็นเงิน ๒๘๐๐ บาทตกลงกันว่าเมื่อนางสาวสุบินอายุครบ ๒๐ ปี จะไปทำสัญญาโอนขายกันยังหอทะเบียนที่ดิน แต่การทำสัญญาขายที่ดินดังกล่าวหาได้ขออนุญาตต่อศาลไม่
บัดนี้นางสาวสุบินต้องการไถ่ถอนที่นา ซึ่งขายฝากไว้กับนางขำคืน จึงได้ฟ้องนางขำเป็นจำเลย ขอให้รับเงิน ๑๒๐๐ บาทและคืนนาให้โจทก์ และได้บอกล้างสัญญาขายดังกล่างแล้วทั้งนี้โดยนายมีบิดายินยอมอนุญาตให้ฟ้อง
นางขำกลับเป็นโจทก์ฟ้องนางสาวสุบินและนายมีอีกสำนวนหนึ่ง ขอบังคับให้ทำสัญญาโอนขายกรรมสิทธิที่พิพาทให้นางขำตามสัญญา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายที่พิพาท มิได้รับอนุญาตจากศาลตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๑๕๔๖ จึงเป็นโมฆียะพิพากษาให้นางขำรับชำระค่าไถ่ถอนที่พิพาทจากนางสาวสุบิน ๑๒๐๐ บาท และคืนที่พิพาทให้นางสาวสุบินให้ยกฟ้องคดีที่นางขำเป็นโจทก์
นางขำอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
นางขำฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายมีบิดานางสาวสุบินได้ตกลงยินยอมในการซื้อขายรายนี้ด้วยนั้น ตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๑๕๔๖ บิดาไม่มีอำนาจขายอสังหาริมทรัพย์เด็กได้ นอกจากได้รับอนุญาตจากศาล ดังนั้นนายมีจึงไม่อาจทำสัญญาซื้อขายที่พิพาท แทนนางสาวสุบินได้ ที่โจทก์อ้างว่าสัญญานี้เป็นเพียงสัญญษจะขายไม่อยู่ในบังคบแห่งมาตรานี้นั้น เห็นว่าถ้าจะขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็กบิดาทำแทนเป็นการใช้ได้แล้ว ก็ย่อมมีผลผูกมัดไปถึงการขายด้วย ก็เมื่อการขายตาม ก.ม.บิดาไม่มีอำนาจทำกันได้นอกจากได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว จะมีอำนาจจะทำสัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็กเป็นการผูกพันเด็กอย่างไร ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว จึงพิพากษายืน