แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 บัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้โดยมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะให้แบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคน และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีนิติกรรมขัดอยู่ ทั้งวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทก็ไม่มีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมร่วมกับจำเลยบุคคลอื่นอีก จึงมีสิทธิเรียกขอให้แบ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวให้แก่ตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 การที่โจทก์เรียกให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งอาจต้องดำเนินการแบ่งตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364กำหนดไว้นั้น มิใช่เป็นการเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตามมาตรา 1363 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นกรรมการแล้ว โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่น รวม 5 คน เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 852 55 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา โจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และนางสาวสุมาลี เดชะชีพสาครร่วมกันถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1720 เนื้อที่ 15 ไร่1 งาน 40 ตารางวา โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 852เฉพาะส่วนเนื้อที่ประมาณ 17 ไร่ 2 งาน จากนายก๊าส พุ่มเพชรบิดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2533 โจทก์ที่ 1 ต้องการขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้จะซื้อ และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาวางมัดจำที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 1 กับบุคคลภายนอกเมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2535 แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 852 และ 1720ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ทั้งนี้เพราะจำเลยทั้งสองมีเหตุพิพาทกันเอง โจทก์ทั้งสองมีความประสงค์จะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 852 และ 1720 แต่ไม่สามารถกระทำได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนโฉนดเลขที่ 852และโฉนดเลขที่ 1720 ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับและให้จำเลยที่ 2 ถอนอายัดที่ดินทั้ง 2 โฉนดดังกล่าวที่สำนักงานที่ดิน หากจำเลยทั้งสองไม่กระทำภายใน 30 วันนับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ถือเอาคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 อายัดที่ดินทั้ง 2 แปลงเป็นการส่วนตัว ไม่ได้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากจึงไม่เป็นเวลาอันควรที่จะแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินในขณะนี้ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินทั้ง 2 แปลงเนื่องจากโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินทั้ง 2 แปลงร่วมกับผู้อื่นอีกหลายคนและเจ้าของรวมแต่ละคนยังไม่ได้ตกลงกำหนดเขตที่ดินของตนไว้อย่างแน่นอนว่าผู้ใดจะมีกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนใดบ้างตามส่วนสัดของตนขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 852 และโฉนดเลขที่ 1720 ให้แก่โจทก์ที่ 1และที่ 2 ตามลำดับ หากไม่สามารถตกลงแบ่งกันได้ ก็ให้ดำเนินการแบ่งแยกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ให้จำเลยที่ 2ดำเนินการถอนอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 852 และ 1720) ดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดกระบัง หากจำเลยที่ 2ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าจำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่ปัจจุบันมิได้เป็นกรรมการแล้ว โจทก์ที่ 1และจำเลยที่ 1 กับบุคคลอื่นอีก 3 คน เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 852 เนื้อที่ 45 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 กับนางสาวสุมาลีเดชะชีพสาคร เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 1720เนื้อที่ 15 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.19จำเลยที่ 2 ยื่นคำขออายัดที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1และ จ.19 กับที่ดินของจำเลยที่ 1 อีกหลายแปลงเมื่อวันที่24 สิงหาคม 2536 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 จะฟ้องจำเลยที่ 1ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เลิกบริษัทและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี และต่อมาจำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 และกรรมการของจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขอให้เลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัทเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2536
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 1และที่ 2 มีสิทธิขอแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 852 และที่ดินโฉนดเลขที่ 1720 ตามลำดับได้หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้” และวรรคสามบัญญัติว่า”ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้” ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านิติกรรมขัดอยู่ทั้งวัตถุประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมในที่ดินทั้ง 2 แปลงนั้นก็ไม่มีลักษณะเป็นการถาวร โจทก์ที่ 1 ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมร่วมกับจำเลยที่ 1 และบุคคลอื่นอีก 3 คนในที่ดินโฉนดเลขที่ 852และโจทก์ที่ 2 ในฐานะที่เป็นเจ้าของรวมร่วมกับจำเลยที่ 1และนางสาวสุมาลีในที่ดินโฉนดเลขที่ 1720 จึงมีสิทธิเรียกขอให้แบ่งที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวให้แก่ตนได้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าที่ดินทั้ง 2 แปลงถูกจำเลยที่ 2อายัดตามประมวลกฎหมายที่ดิน และจำเลยที่ 2 ฟ้องคดีเลิกบริษัทและแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 การดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดินทั้ง 2 แปลงซึ่งเจ้าของรวมแต่ละคนยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องพื้นที่ว่าใครจะได้กรรมสิทธิ์ในส่วนไหนตามส่วนสัดที่มีอยู่แต่ละราย หากไม่สามารถแบ่งแยกกันเองได้จำเป็นต้องดำเนินการแบ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364กำหนดไว้โดยการนำที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมออกขายหรือขายทอดตลาดจึงไม่อยู่ในเวลาอันสมควรที่จะแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 วรรคสาม นั้น เห็นว่าการที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกให้แบ่งที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวซึ่งอาจต้องดำเนินการแบ่งตามวิธีการที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1364 กำหนดไว้นั้น มิใช่เป็นการเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1363 วรรคสาม แต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2ดำเนินคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินแก่เจ้าของรวมคนอื่นด้วยผลคำพิพากษาจึงไม่อาจนำไปบังคับแก่เจ้าของรวมคนอื่นนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 บัญญัติให้เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้โดยมิได้บังคับให้เจ้าของรวมผู้ประสงค์จะให้แบ่งทรัพย์สินต้องฟ้องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมทุกคน
พิพากษายืน