คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8087/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ยอมดำเนินการออกใบแทนใบสำคัญประจำตัวให้แก่โจทก์โดยไม่ถูกต้อง เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ มาตรา 9 (1) แม้โจทก์จะกล่าวในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ แทนที่จะกล่าวในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็มีความหมายอย่างเดียวกันเพราะการกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ก็คือการกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ต่อโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยในฐานะนายทะเบียนคนต่างด้าวออกใบแทนใบสำคัญประจำตัวใหม่แก่โจทก์ หากไม่สามารถออกใบแทนดังกล่าวได้ ให้จำเลยออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้แก่โจทก์ พร้อมใบสำคัญถิ่นที่อยู่ และจดทะเบียนรับรองว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวที่เข้ามาในประเทศไทย โดยได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองให้อยู่ในประเทศไทยในลักษณะถาวร
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาขอให้รับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นคนต่างด้าวโดยมีสัญชาติจีน เชื้อชาติกว่องฟู โจทก์เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยได้รับใบสำคัญประจำตังคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวโดยชอบตามใบสำคัญประจำตัวเลขที่ 19/2489 จำเลยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นเจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนคนต่างด้าว ต่อมาใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของโจทก์หน้า 3 หน้า 4 หน้า 5 และหน้า 6 หายไป โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยขอใบแทนใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของโจทก์ในส่วนที่หายไป แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมดำเนินการให้ โดยอ้างว่าใบสำคัญประจำตัวเลขที่ 19/2489 ไม่ตรงกับหลักฐานต้นเรื่องที่มีอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปะเหลียน โดยใบสำคัญประจำตัวดังกล่าวเป็นของนายหะเถ้ง แซ่คู่ การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โดยกล่าวหาว่าโจทก์เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้อง เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ยอมดำเนินการออกใบแทนใบสำคัญประจำตัวให้แก่โจทก์โดยไม่ถูกต้องเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) แม้โจทก์จะกล่าวในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ แทนที่จะกล่าวในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็มีความหมายอย่างเดียวกัน เพราะการกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ก็คือการกล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำผิดหน้าที่ต่อโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ที่ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณานั้น เท่ากับว่าศาลล่างทั้งสองให้คืนคำฟ้องแก่โจทก์เพื่อไปฟ้องต่อศาลปกครองจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share