คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077-8078/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เอง และตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน (ฉบับที่ 3) ข้อ 6 ได้กำหนดวิธีการยื่นบัญชีระบุพยานของศาลแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้ในการดำเนินคดีแรงงาน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ใช้บังคับแก่กรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง หากไม่ได้ระบุเหตุผลที่อ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดที่จะเป็นไปตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 (1) ถึง (6) ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบแล้ว จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น ไม่บังคับรวมถึงการนำพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีที่จะเกินกว่าที่พยานนั้นเคยให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าชดเชย และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์ทั้งสองเป็นพนักงานของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ที่ 1 มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นรักษาการเจ้าหน้าที่บังคับบัญชา 11 ฝ่ายอำนวยการสาขาและรักษาการผู้จัดการสาขาจันทบุรี ส่วนโจทก์ที่ 2 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ 7 ฝ่ายอำนวยการสาขา และดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อ 7 สาขาจันทบุรีด้วย ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ได้รับหนังสือร้องเรียนว่า พนักงานในสาขาจันทบุรีร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากลูกค้าสินเชื่อรายที่ขอปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่าโจทก์ทั้งสองกระทำผิดแล้วเสนอคณะกรรมการพิจารณาโทษทางวินัย ต่อมาได้มีมติให้โจทก์ทั้งสองออกจากงาน ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) จึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสอง ต่อมาจำเลยรับโอนกิจการ สินทรัพย์ หนี้สินรวมทั้งภาระผูกพันของธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) ที่มีอยู่มาเป็นของจำเลย
ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ทำนองเดียวกันว่า จำเลยนำพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีเกินกว่าที่ให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวน เป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ทนายจำเลยมิได้นำส่งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่แถลงต่อศาลแรงงานกลาง คำเบิกความพยานจึงรับฟังไม่ได้ ทนายจำเลยเบิกความโดยไม่ส่งต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจให้เบิกความแทนและไม่ได้ระบุให้หนังสือมอบอำนาจเป็นพยานในบัญชีระบุพยาน ทนายจำเลยไม่ได้เป็นผู้ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความที่เบิกความต่อศาลด้วยตนเองโดยตรง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) มาตรา 88 มาตรา 95 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร” บทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจศาลแรงงานที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควรและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน (ฉบับที่ 3) ข้อ 6 ได้กำหนดวิธีการยื่นบัญชีระบุพยานของศาลแรงงาน จึงเป็นกรณีที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้แก่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ได้ ส่วนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ใช้บังคับแก่กรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง หากไม่ได้ระบุเหตุผลที่อ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดที่จะเป็นไปตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 (1) ถึง (6) ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบแล้ว จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ได้เท่านั้น ไม่รวมถึงการนำพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีที่จะเกินกว่าที่พยานนั้นเคยให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนตามที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์แต่อย่างใด ส่วนการรับฟังคำเบิกความของทนายจำเลยนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางมีอำนาจที่จะเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองหรือกำหนดให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบโดยจะให้ยื่นบัญชีระบุพยานหรือไม่ก็ได้ หรือหากเห็นว่าพยานบุคคลใดยังไม่อาจให้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดีแล้ว ศาลแรงงานกลางก็ยังเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองดังที่กล่าวมา การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานบุคคลและรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง

Share