คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 802/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักเงิน 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินค่าจ้างที่โจทก์จะจ่ายให้จำเลยที่ 1แต่ละงวดเพื่อเป็นประกันผลงาน แต่โจทก์มิได้หักเงินจำนวนนี้ไว้เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันเงินจำนวนนี้ไว้กับโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์ เพราะหากจำเลยที่ 2 ไม่เข้าค้ำประกันเงินจำนวนดังกล่าวแล้วโจทก์ก็จะหักเงินจำนวนนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 และโจทก์มีสิทธิที่จะนำเงินดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับค่าปรับและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างชำระเงินค่าเสียหายและค่าปรับให้แก่โจทก์จำนวน 22,486,914.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 3,185,646.27 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี และให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์จำนวน 7,012,730.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 3,097,289.23 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินค่างาน (ค่าจ้าง) ล่วงหน้า จำนวน 1,072,058.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องจำนวน 473,492.46 บาท และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ไม่ได้เสียหายเป็นเงินถึง27,218,112.10 บาท ตามฟ้อง ค่าเสียหายอันเป็นค่าปรับเป็นรายวันแม้จะได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่เป็นข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 อยู่ในสภาวะจำยอมไม่อาจโต้แย้งได้ และโจทก์ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใดจึงเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยของค่าเสียหายอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้ออกหนังสือค้ำประกันแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือให้จำเลยที่ 2 ยับยั้งไว้ อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ต่อศาลแล้วคดีมีทางชนะ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่ได้จ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จะได้ดำเนินการตามภาระหนังสือค้ำประกันมาวางต่อศาลต่อไป
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่างานเพิ่มและค่าปรับให้แก่โจทก์จำนวน 17,328,145.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 16,211,914.94 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินดังกล่าวเป็นจำนวน 3,718,526.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 3,478,989.38 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่างาน (ค่าจ้าง) ล่วงหน้าคืนให้แก่โจทก์จำนวน1,545,550.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ในต้นเงิน1,072,058.43 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดต่อโจทก์เพิ่มขึ้นอีก 3,533,741.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันผิดนัด โดยคิดตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์อีกด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้เงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินค่างานเพิ่มและค่าปรับตามสัญญาจ้างหลายฉบับรวมเป็นเงิน 3,478,989.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดโดยจำเลยที่ 2 ไม่อุทธรณ์คดีคงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เท่ากับจำนวนเงินค่าประกันผลงานตามหนังสือค้ำประกันฉบับอื่นที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์อีกหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงให้โจทก์มีสิทธิหักเงิน 10 เปอร์เซนต์ ของเงินค่าจ้างที่โจทก์จะจ่ายให้จำเลยที่ 1 แต่ละงวดเพื่อเป็นประกันผลงานถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์ให้โจทก์หักเงินจำนวนดังกล่าวไว้จำเลยที่ 1 จะหาผู้มาค้ำประกันสำหรับเงินจำนวนนี้ไว้ต่อโจทก์แทนก็ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันเงินจำนวนนี้ไว้กับโจทก์ โจทก์จึงมิได้หักเงินจำนวนนี้ไว้ ซึ่งคิดเป็นเงิน 3,533,741.03 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ เป็นเงิน 17,328,145.10 บาท พร้อมดอกเบี้ย จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่เข้าค้ำประกันเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว โจทก์ก็จะหักเงินจำนวนนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 และโจทก์มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปหักกลบลบหนี้กับค่าปรับและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 2 เข้าค้ำประกันในเงินจำนวนนี้ จึงทำให้โจทก์ไม่มีเงินจำนวนนี้อยู่ในมือของโจทก์ที่จะนำมาหักกลบลบหนี้ได้ ฉะนั้นจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ เพื่อโจทก์จะได้นำมาหักใช้เป็นส่วนหนึ่งของค่าปรับและค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ถ้าหากให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามหนังสือค้ำประกันเงินค่าประกันผลงานแล้ว จะเป็นการให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายซ้ำซ้อนนั้น เห็นว่าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 3,533,741.03 บาท แก่โจทก์อีกต่างหากจากค่าปรับและค่าเสียหายจำนวน 17,328,145.10 บาท แต่อย่างใด เพียงแต่ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเท่านั้น จำนวนเงินค่าปรับและค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับยังคงเท่าเดิม จึงไม่เป็นการพิพากษาให้ค่าเสียหายซ้ำซ้อนแก่โจทก์ดังจำเลยที่ 2 ฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงินจำนวนนี้พร้อมดอกเบี้ยจึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share