แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกหนี้มีความผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับเจ้าหนี้โดยต้องรับผิดจัดทำกันซึมเพื่อป้องกันน้ำซึมจากชั้นบนอยู่แล้ว ทั้งเจ้าหนี้ไม่ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัท ท. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก กรณีจึงมิใช่การเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ
เมื่ออาคารที่เจ้าหนี้รับมอบจากลูกหนี้มีปัญหาน้ำรั่วของดาดฟ้าชั้น 8 และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 12 ลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องทำการกันซึมพื้นที่ชั้นที่ 8 ทั้งหมดด้วยวัสดุกันซึมอย่างดีเพื่อป้องกันน้ำซึมจากสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ น้ำฝนหรือการรั่วซึมอื่นๆ ลงมาที่ชั้นล่างของอาคารในส่วนของเจ้าหนี้ เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้วลูกหนี้จึงต้องรับผิดชอบทำการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ หากไม่ดำเนินการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้ได้อันถือได้ว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 และมาตรา 215 นั่นเอง แม้เจ้าหนี้จะยังมิได้ดำเนินการซ่อมแซมก็เรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546 และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผนต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2547 ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนโดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาซื้อขายห้องชุดเป็นเงิน 9,660,145.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,989,618.36 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าเสียหายเป็นเงิน 9,660,145.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,989,618.36 บาท จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จจากลูกหนี้
ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาประกันความรับผิดอันเกิดจากการรั่วซึมของอาคารชุดกับบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยลูกหนี้ยินยอมแล้ว เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้รับผิดในความเสียหายใดๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกต่อไป ทั้งเจ้าหนี้ยังมิได้ดำเนินการซ่อมแซมการรั่วซึม จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้
เจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันว่า คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้บริหารแผน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2529 เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดอาคารตรีนิตี้ คอมเพล็กซ์ ตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึงที่ 7 จากลูกหนี้ในราคา 360,000,000 บาท ลูกหนี้ตกลงจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดเฉพาะส่วนนี้ให้เสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 และจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดและทรัพย์ส่วนกลางให้เสร็จสิ้นบริบูรณ์ภายในวันที่ 30 กันยายน 2531 ลูกหนี้จะต้องจัดทำกันซึมพื้นที่ชั้นที่ 8 ทั้งหมดของอาคารชุดด้วยวัสดุกันซึมอย่างดีเพื่อป้องกันน้ำซึมจากสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ น้ำฝนและการรั่วซึมอื่นๆ ลงมาชั้นล่างของอาคารในส่วนของเจ้าหนี้หากปรากฎว่าน้ำรั่ว น้ำไหลหรือน้ำซึมจากเพดานหรือหลังคาของชั้นที่ 7 ภายใน 10 ปี ตั้งแต่การก่อสร้างอาคารชุดเสร็จสิ้นบริบูรณ์ตามสัญญาข้อ 9.2 ลูกหนี้สัญญาว่าจะรับผิดชอบแก้ไขซ่อมแซมให้เสร็จโดยเร็วตามสัญญาข้อ 12 ลูกหนี้สัญญาว่าหากลูกหนี้ไม่จัดการให้ลูกหนี้ยินยอมให้เจ้าหนี้ดำเนินการฟ้องร้องบังคับให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาได้ หรือฟ้องเรียกค่าเสียหายอันพึงมีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ปรากฏว่าลูกหนี้ได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530 หลังจากเจ้าหนี้รับมอบอาคารจากลูกหนี้แล้ว ประมาณเดือนกันยายน 2531 และวันที่ 6 ตุลาคม 2531 เจ้าหนี้ตรวจพบว่ามีน้ำรั่วซึมจากชั้นที่ 8 ลงมาชั้นที่ 7 หลายจุด เจ้าหนี้แจ้งให้ลูกหนี้ทราบเพื่อดำเนินการซ่อมแซม ต่อมาบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารตรีทิพย์ได้ดำเนินการซ่อมแซมการรั่วแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2531 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด มีหนังสือถึงเจ้าหนี้ขอประกันการรั่วซึมกับเจ้าหนี้โดยตรงเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 เป็นต้นไปเพื่อลดขั้นตอนในการดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมหากมีความเสียหายจากอาคารดังกล่าว
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้บริหารแผนข้อแรกว่า มีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้แล้วหรือไม่ ที่ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ว่าหลังจากได้รับแจ้งจากเจ้าหนี้ให้ซ่อมแซมการรั่วซึมของอาคารชุด บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้ดำเนินการซ่อมแซมตามเอกสารหมาย ร.2 ถึง ร.5 แล้วทำหนังสือลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 เสนอขอเป็นผู้ประกันการรั่วซึมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับเจ้าหนี้ด้วยตนเองเป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 ตามเอกสารหมาย ร.6 ถือได้ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นคำเสนอของบุคคลภายนอกต่อเจ้าหนี้ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2533 บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด มีหนังสือแจ้งลูกหนี้เจ้าหนี้สามารถยอมรับข้อเสนอได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงก่อนตามเอกสารหมาย ร.7 แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้เห็นชอบในคำเสนอแต่ติดเงื่อนไขที่ลูกหนี้จะต้องยินยอมเสียก่อนวันที่ 12 มีนาคม 2533 เจ้าหนี้ได้มีหนังสือเพื่อให้ลูกหนี้ยินยอมในการที่บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด จะเป็นผู้รับประกันการรั่วซึมตามเอกสารหมาย ร.8 วันที่ 28 มีนาคม 2533 ลูกหนี้ได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าหนี้ว่าไม่ขัดข้องและถือว่าหนังสือฉบับดังกล่าวเป็นการให้ความยินยอมในการทำสัญญาประกันการรั่วซึมระหว่างบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด กับเจ้าหนี้ตามเอกสารหมาย ร.9 ที่เจ้าหนี้อ้างว่าได้ปฏิเสธข้อเสนอของบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ก่อนวันที่ลูกหนี้ให้ความยินยอมเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดง ประกอบกับหลังจากลูกหนี้ออกหนังสือให้ความยินยอมไปแล้วเจ้าหนี้มีหนังสือถึงลูกหนี้แจ้งว่าเจ้าหนี้ได้แจ้งให้บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด แก้ไขซ่อมแซมการรั่วซึมหลายครั้งในช่วงปี 2534 ตามเอกสารหมาย ร.10 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้น เห็นว่า การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้อาจทำเป็นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่ก็ได้ แต่คู่กรณีจะต้องมีความประสงค์ที่จะระงับหนี้เดิมด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 และมาตรา 350 นางวีณา เชิดบุญชาติ กรรมการของลูกหนี้เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า หลังจากลูกหนี้ให้ความยินยอมเจ้าหนี้ได้แจ้งให้บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด มาดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมการรั่วซึม และบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการซ่อมแซมให้ จึงถือว่าสัญญาประกันการรั่วซึมระหว่างเจ้าหนี้กับบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด มีผลผูกพันตามกฎหมายแต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเจ้าหนี้กับบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้ตกลงกันกำหนดให้ความรับผิดชอบของลูกหนี้ในหนี้เดิมคือการรับประกันการรั่วซึมของอาคารตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.1 หรือ ค.3 ระงับสิ้นไป เอกสารหมาย ร.10 ซึ่งทำในปี 2535 เป็นหนังสือที่เจ้าหนี้ขอให้ลูกหนี้แจ้งให้บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ทำการแก้ไขปัญหารั่วซึมบริเวณเพดานชั้น 7 อาคารตรีทิพท์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนของปี 2535 ส่วนเอกสารหมาย ค.18 ซึ่งทำเมื่อปี 2540 ก็เป็นหนังสือที่เจ้าหนี้แจ้งให้ลูกหนี้ส่งเจ้าหน้าที่ไปแก้ไขปัญหาน้ำรั่วซึมจากพื้นที่ชั้น 8 อาคารตรีทิพย์ลงมาที่ชั้น 7 ของอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ของเจ้าหนี้หากเจ้าหนี้ได้ทำสัญญาเปลี่ยนผู้รับผิดชอบในการรับประกันการรั่วซึมจากลูกหนี้เป็นบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ดังที่ผู้บริหารแผนอุทธรณ์แล้วย่อมไม่มีเหตุผลใดๆ ที่เจ้าหนี้จะมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ดำเนินการเกี่ยวกับการซ่อมแซมการรั่วซึม นายชูชาติ วรรณนิยม พนักงานของเจ้าหนี้ตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายอาคารและเครื่องเรือนเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นตอนหนึ่งว่า บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ทำหนังสือถึงเจ้าหนี้ขอประกันการรั่วซึมกับเจ้าหนี้โดยตรงตามเอกสารหมาย ค.9 (ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ร.6) แต่เจ้าหนี้ปฏิเสธ ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2522 บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด มีหนังสือถึงเจ้าหนี้อีกครั้งตามเอกสารหมาย ค.10 ขอใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ มูลค่า 500,000 บาท เป็นประกันอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือจากหนังสือขอประกันเอกสารหมาย ค.9 เจ้าหนี้ได้มีหนังสือถึงลูกหนี้ขอทราบผลการพิจารณาการขอเปลี่ยนผู้รับประกันตามเอกสารหมาย ค.11 (ซึ่งตรงกับเอกสารหมาย ร.8) แต่ไม่ได้รับคำตอบจากลูกหนี้ วันที่ 22 มีนาคม 2533 บริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด มีหนังสือถึงเจ้าหนี้ขอเบิกเงินประกันผลงานโดยอ้างว่าการรั่วซึมไม่อยู่ในความรับผิดของบริษัทดังกล่าวตามเอกสารหมาย ค.12 เนื่องจากขณะนั้นไม่ได้รับคำตอบจากลูกหนี้ และบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด ไม่ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์มาวางเป็นประกันตามข้อเสนอ เจ้าหนี้จึงถือว่าข้อเสนอขอเปลี่ยนผู้รับประกันการรั่วซึมเป็นอันยกเลิกไป ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทำสัญญาประกันการรั่วซึมฉบับใหม่กับบริษัทไทยโคโนอิเกะ คอนสตรัคชั่น จำกัด กรณีมิใช่การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่จะทำให้หนี้เดิมระงับ อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้บริหารแผนข้อสุดท้ายมีว่า ลูกหนี้จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียงใด ผู้บริหารแผนอุทธรณ์ว่าการที่เจ้าหนี้จัดให้บริษัทไทยฮาซาม่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทนันทวัน จำกัด เสนอราคาการซ่อมแซมปัญหาน้ำรั่วของดาดฟ้าชั้นที่ 8 โดยบริษัทไทยฮาซาม่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เสนอราคาต่ำสุดจำนวน 8,807,718.36 บาท จึงเป็นผู้ประมูลได้ แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้มิได้ว่าจ้างบริษัทไทยฮาซาม่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าดำเนินการซ่อมแซมเลย แสดงว่าเจ้าหนี้มีเจตนาสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาเพื่อเป็นการตั้งฐานแห่งสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้โดยไม่สุจริต โดยให้พวกพ้องเสนอราคาเกินกว่าความเสียหายที่แท้จริง เนื่องจากก่อนหน้านี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดอาร์.พี.เอ็ม เคยเสนอราคาซ่อมแซมความเสียหายดังกล่าวให้เจ้าหนี้พิจารณาเพียง 1,653,300 บาท ตามเอกสารหมาย ค.26 ซึ่งเป็นราคาที่แตกต่างกันมาก ดังนั้น หากเจ้าหนี้ได้รับความเสียหายจริง เจ้าหนี้จะต้องรีบดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว มิใช่ปล่อยเวลาล่วงเลยมาเกือบ 4 ปี หากลูกหนี้ต้องรับผิดก็เป็นค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและมีเงื่อนไขนั้นเห็นว่า เมื่ออาคารที่เจ้าหนี้รับมอบจากลูกหนี้มีปัญหาน้ำรั่วของดาดฟ้าชั้นที่ 8 และตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดอาคารตรีนิตี้ข้อ 12 ลูกหนี้มีหน้าที่จะต้องทำการกันซึมจากสนามเทนนิส สระว่ายน้ำ น้ำฝนหรือการรั่วซึมอื่นๆ ลงมาที่ชั้นล่างของอาคารในส่วนของเจ้าหนี้เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้วลูกหนี้จึงต้องรับผิดชอบทำการซ่อมแซมแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้สำเร็จ หากไม่ดำเนินการเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการโดยเรียกค่าใช้จ่ายจากลูกหนี้ได้ อันถือได้ว่าเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 และมาตรา 215 นั่นเอง แม้เจ้าหนี้จะยังมิได้ดำเนินการซ่อมแซมก็ตาม ทั้งการเสนอราคาซ่อมแซมของบริษัทไทยฮาซาม่า คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 8,807,716.36 บาท เกิดจากการประมูลแข่งขันและเป็นราคาต่ำสุด จึงเชื่อได้ว่าเป็นราคาค่าซ่อมแซมเพียง 1,653,300 บาท นั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดอาร์.พี.เอ็ม. ไม่ได้เข้าสู้ราคาในการประมูลด้วยจึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้บริหารแผนทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.