คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านได้นำที่ดินและตึกแถวมาลงหุ้นตั้งแต่ลูกหนี้(จำเลย) ที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 1เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1079 กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวจึงตกเป็นของลูกหนี้ตั้งแต่เวลาที่นำมาลงหุ้น แม้หุ้นส่วนผู้จัดการจะมีหนังสือไปถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทว่าผู้คัดค้านจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกหนี้ที่ 1 เมื่อลูกหนี้เป็นนิติบุคคลแล้ว ก็ไม่ทำให้ที่ดินและตึกแถวไม่ตกเป็นของลูกหนี้ที่ 1 ไปได้ และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1030 ที่บัญญัติถึงความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการซื้อขายนั้น ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบตัวทรัพย์ มิใช่เรื่องกรรมสิทธิ์ เมื่อกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวได้ตกเป็นของลูกหนี้ที่ 1 ตั้งแต่วันที่นำมาลงหุ้น การลดทุนโดยถอนหุ้นที่ลงหุ้นด้วยที่ดินและตึกแถวบางส่วนออกไปในขณะที่ลูกหนี้ที่ 1 กำลัง ประสบกับภาวะการขาดทุนซึ่งลูกหนี้ที่ 1 กับผู้คัดค้านทราบดี จึงเป็นการที่ลูกหนี้ที่ 1 โอนทรัพย์สินหรือยอมให้โอนทรัพย์สินไปในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลายโดยไม่สุจริต และไม่มีค่าตอบแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ดอกเบี้ยที่ศาลชั้นต้นคิดให้โดยนับตั้งแต่วันยื่นคำร้องยังไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนจึง ถือว่ามีการผิดนัดอันจะคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันนั้น

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ทั้งสองไว้เด็ดขาด และได้พิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลายตามทางสอบสวนของผู้ร้องได้ความว่า ลูกหนี้ที่ 1 ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ทุนจดทะเบียน 17,200,000 บาท มีผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด และผู้คัดค้านที่ 5 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำเงินสดมาลงหุ้นคนละ 60,000 บาท และนำที่ดินที่ผู้คัดค้านทั้งสามมีกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 51 แปลง มาลงเป็นหุ้น ผู้คัดค้านที่ 4นำตึกแถว 10 คูหา มาลงเป็นหุ้น ผู้คัดค้านที่ 5 นำเงินสดมาลงหุ้น 30,000 บาท และนำตึกแถว 8 คูหา มาลงเป็นหุ้นทรัพย์สินทั้งหมดนี้ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ยกกรรมสิทธิ์ให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 แล้วตั้งแต่ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เพียงแต่ยังไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เพราะนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทยังไม่ได้รับจดทะเบียน ขณะนั้นลูกหนี้ที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ไม่สามารถรับโอนทรัพย์สินได้ แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต่อไปหลังจากลูกหนี้ที่ 1มีสภาพเป็นนิติบุคคลแล้ว ถือได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนได้ส่งมอบทรัพย์สินที่นำมาลงเป็นหุ้นและกรรมสิทธิ์ได้โอนไปยังลูกหนี้ที่ 1 แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030ลูกหนี้ที่ 1 ได้ประกอบกิจการขาดทุน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบถึงฐานะของลูกหนี้ที่ 1 เป็นอย่างดี ได้ประชุมลงมติให้ลดทุนโดยถอนหุ้นของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่เป็นที่ดินรวม45 แปลง เป็นเงิน 10,720,000 บาท คิดเป็นมูลค่าคนละ3,573.333 บาท ถอนหุ้นของผู้คัดค้านที่ 4 ที่เป็นตึกแถวรวม8 คูหา เป็นเงิน 1,040,000 บาท และถอนหุ้นของผู้คัดค้านที่ 5ที่เป็นตึกแถวรวม 3 คูหา เป็นเงิน 390,000 บาท ลูกหนี้ที่ 1ได้ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับผู้เป็นหุ้นส่วนเมื่อวันที่3 เมษายน 2523 และผู้คัดค้านทั้งห้าได้รับทรัพย์สินที่ถอนหุ้นจากลูกหนี้ที่ 1 ไปเสร็จสิ้นแล้ว การลดทุนของลูกหนี้ที่ 1ด้วยการถอนหุ้นไปจากสินทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ของผู้คัดค้านทั้งห้าดังกล่าวได้กระทำก่อนลูกหนี้ที่ 1 ถูกฟ้องล้มละลายเพียงหนึ่งปีเศษ จึงเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินและทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ลดน้อยถอยลง เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของลูกหนี้ที่ 1ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ได้ถอนไป เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและเป็นการรับโอนทรัพย์สินจากลูกหนี้ที่ 1 โดยไม่มีค่าตอบแทน และได้กระทำในช่วงระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลาย ขอให้เพิกถอนการลดทุนของลูกหนี้ที่ 1และเพิกถอนการโอนทรัพย์สินระหว่างลูกหนี้ที่ 1 กับผู้คัดค้านทั้งห้า ให้ผู้คัดค้านทั้งห้าส่งมอบทรัพย์สินที่ถอนคืนให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 หากไม่สามารถคืนได้ก็ได้ให้ชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านทั้งห้ายื่นคำคัดค้านว่า ที่ดิน 45 แปลง กับตึกแถวตามคำร้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกหนี้ที่ 1 กรรมสิทธิ์จึงยังไม่โอนไปยังลูกหนี้ที่ 1 และลูกหนี้ที่ 1 ก็ไม่เคยกระทำการใด ๆ อันถือว่าเป็นการโอนที่ดินตามที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030 ไม่ใช่บทยกเว้นที่ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทและผู้ลงหุ้นไม่ต้องดำเนินการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินถ้ามีการเอาทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์มาลงหุ้น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะต้องจัดให้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่นำมาลงเป็นของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตา 525 และมาตรา 1299 การจดทะเบียนลดทุนไม่เป็นการโอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ผู้คัดค้านทั้งห้าจึงไม่ใช่ผู้รับโอนทรัพย์สินตามคำร้องผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนลดทุนของลูกหนี้ที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการลดทุนของลูกหนี้ที่ 1กับผู้คัดค้านทั้งห้า และเพิกถอนการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1กับผู้คัดค้านทั้งห้า ให้ผู้คัดค้านทั้งห้าส่งมอบทรัพย์สินที่ถอนคืนไปให้ลูกหนี้ที่ 1 หากไม่สามารถคืนได้ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้ราคาที่ดินและตึกแถวที่ถอนหุ้นคืนไปคนละ 3,573,333 บาท ให้ผู้คัดค้านที่ 4 ใช้ราคาตึกแถวที่ถอนหุ้นคืนไปรวม 1,040,000 บาท และให้ผู้คัดค้านที่ 6 ใช้ราคาตึกแถวที่ถอนหุ้นคืนไปรวม 390,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งห้าที่ว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เพิกถอนการลดทุนและการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 นั้น เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งห้าได้ตกลงนำที่ดินและตึกแถวมาลงหุ้นตั้งแต่ลูกหนี้ที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งลูกหนี้ที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคลนั้น ถือว่าลูกหนี้ที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1079 แล้ว เมื่อผู้คัดค้านทั้งห้านำที่ดินและตึกแถวมาลงหุ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวจึงตกเป็นของลูกหนี้ที่ 1 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้จะมีหนังสือชี้แจงการนำทรัพย์สินเข้าลงหุ้นซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการมีไปถึงนายทะเบียนในการขอจดทะเบียนลูกหนี้ที่ 1 ว่า ผู้คัดค้านทั้งห้าจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกหนี้ที่ 1 เมื่อลูกหนี้ที่ 1เป็นนิติบุคคลแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้ที่ดินและตึกแถวไม่เป็นของลูกหนี้ที่ 1 ไปได้ ซึ่งในการประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อลดหุ้นก็ได้ตกลงกันให้ผู้คัดค้านทั้งห้าถอนหุ้นในส่วนที่ลงหุ้นด้วยที่ดินและตึกแถวออกไปได้อันแสดงอยู่ในตัวว่าได้มีการส่งมอบที่ดินและตึกแถวนั้นให้แก่ลูกหนี้ที่ 1 แล้ว ที่ผู้คัดค้านทั้งห้าฎีกาว่าที่ดินและตึกแถวเป็นอสังหาริมทรัพย์ เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030 ซึ่งบัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการซื้อขายตามมาตรา 525 และมาตรา 1299 มาใช้บังคับก็ยังถือไม่ได้ว่ามีการส่งมอบและกรรมสิทธิ์โอนไปยังลูกหนี้ที่ 1 แล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030 บัญญัติว่าด้วยความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบ ให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการซื้อขายนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบตัวทรัพย์หาได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ไม่ ดังนั้น ในระหว่างผู้คัดค้านทั้งห้ากับลูกหนี้ที่ 1 ต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวได้ตกเป็นของลูกหนี้ที่ 1 ตั้งแต่เวลาที่นำมาลงหุ้นแล้วการลดทุนโดยถอนหุ้นที่ลงหุ้นด้วย ที่ดินและตึกแถวบางส่วนออกไปในปี 2523 ในขณะที่ลูกหนี้ที่ 1 กำลังประสบกับภาวะการขาดทุนซึ่งลูกหนี้ที่ 1 กับผู้คัดค้านทั้งห้าก็ทราบดี จึงเป็นการที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้โอนทรัพย์สินหรือยอมให้โอนทรัพย์สินไปในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ที่ 1 ล้มละลายไม่สุจริต และไม่มีค่าตอบแทน ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนเสียได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 สำหรับดอกเบี้ยที่ศาลชั้นต้นคิดให้โดยนับตั้งแต่วันยื่นคำร้องนั้นยังไม่ถูกต้องแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนแล้วจึงจะถือว่ามีการผิดนัดอันจะคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันนั้นเป็นต้นไป จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า หากไม่สามารถคืนได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ใช้ราคาคนละ 3,573,333 บาท ให้ผู้คัดค้านที่ 4ใช้ราคา 1,040,000 บาท และให้ผู้คัดค้านที่ 5 ใช้ราคา 390,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share