คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาตั้งแต่ปี 2478 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามในท้องที่ตำบลพรหมพิราม ฯลฯพ.ศ.2487 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินพ.ศ.2478 กำหนดเขตหวงห้ามในที่ดินดังกล่าว โดยหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งนิคมกสิกรตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2485ซึ่งต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ใช้บังคับติดต่อกันมา หลังจากนั้นทางราชการได้ประกาศจัดตั้งนิคมสร้างตนเองทุ่งสาน มีอาณาเขตคลุมถึงที่พิพาทด้วยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 246 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 ดังนี้ เห็นได้ว่าที่พิพาทมิใช่เป็นเพียงที่ดินรกร้างว่างเปล่าธรรมดา หากแต่เป็นที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ทางราชการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 ตั้งแต่ปี 2487 ตลอดมาอีกด้วย แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินพ.ศ.2478 จะได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4(6) แต่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 10 ก็บัญญัติว่าที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 หรือตามกฎหมายอื่นอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ให้คงเป็นที่หวงห้ามต่อไปดังนั้นแม้โจทก์จะได้เข้าครอบครองและทำกินในที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2507 จนบัดนี้ก็เป็นการเข้ายึดถือที่ดินซึ่งทางราชการได้ประกาศหวงห้ามแล้วเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หากจะถือว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครอง ก็ไม่อาจใช้สิทธิยันจำเลยซึ่งเป็นหน่วยราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้

ย่อยาว

คดีทั้ง 19 สำนวนนี้ และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 249/2516 ของศาลชั้นต้นซึ่งไม่มีฎีกา ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ทั้งสิบเก้าสำนวนฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์แต่ละสำนวนเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินคนละแปลง ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องแต่ละสำนวน ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 246 ให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นในที่ดินของรัฐ ในเขตท้องที่อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดจึงได้โอนการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองทุ่งสานให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ปกครองนิคมสร้างตนเองทุ่งสานเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินที่นิคมทุ่งสานต่อไป จำเลยที่ 2 จึงอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าไปทำกินในที่ดินที่โจทก์เคยทำกินมาก่อน จำเลยที่ 2 กับบริวารได้เข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์กับนำที่ดินของโจทก์ไปจัดสรรให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยซึ่งห้ามโจทก์เข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ และจะนำที่ดินของโจทก์ไปจัดสรรแก่บุคคลอื่นซึ่งไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ห้ามจำเลยและบริวารมิให้มารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์

จำเลยทั้งสองทั้งสิบเก้าสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินตามที่กล่าวมาในฟ้อง และทางราชการก็ไม่เคยรับรองหรืออนุญาตให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินดังกล่าว ฯลฯ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินที่ทางราชการหวงห้ามตั้งแต่ปี 2474ตลอดมา พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งยี่สิบสำนวน

โจทก์ทั้งยี่สิบสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสิบเก้าสำนวน เว้นแต่สำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 249/2516ของศาลชั้นต้น ฎีกา

ในปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิในที่พิพาทแต่ละสำนวนหรือไม่นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยยอมรับข้อเท็จจริงกันแล้วว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาตั้งแต่ปี 2478 ต่อมาปี 2487 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามในที่ดินดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลพรหมพิราม ตำบลหนองแขม ตำบลมะต้อง ตำบลวงฆ้อง ตำบลหอกลอง ตำบลวัดโบสถ์ และตำบลท่างาม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ. 2487 ซึ่งปัจจุบันหมายถึงเขตการปกครองท้องที่ตำบลพรหมพิราม ตำบลหนองแขม ตำบลมะต้อง ตำบลวงฆ้อง ตำบลหอกลองตำบลทับยายเชียง อำเภอพรหมพิรามและตำบลวัดโบสถ์ ตำบลท่างาม ตำบลท้อแท้อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก เป็นที่หวงห้ามไว้ เพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งนิคมกสิกร ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2484 ซึ่งต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ใช้บังคับติดต่อกันมาหลังจากนั้นทางราชการได้ประกาศจัดตั้งนิคมสร้างตนเองทุ่งสานในท้องที่อำเภอพรหมพิราม และอำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีอาณาเขตที่ดินคลุมถึงที่พิพาทดังกล่าวด้วยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 246ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2515 จึงเห็นได้ว่าที่พิพาท มิใช่เป็นเพียงที่ดินรกร้างว่างเปล่าธรรมดา หากแต่เป็นที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ทางราชการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 ตั้งแต่ปี 2487 ตลอดมาอีกด้วย แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 จะได้ถูกยกเลิกไปโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 4(6) แต่พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 10 ก็บัญญัติว่า ที่ดินซึ่งได้หวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. 2478 หรือตามกฎหมายอื่นอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับให้คงเป็นที่หวงห้ามต่อไป ดังนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังตามที่โจทก์แถลงว่าได้เข้าทำกินและครอบครองในที่พิพาทมาตั้งแต่ปี 2507 จนบัดนี้ ก็เป็นการเข้ายึดถือที่ดิน ซึ่งทางราชการได้ประกาศหวงห้ามแล้ว เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หากจะถือว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองแต่ก็ไม่อาจใช้สิทธิยันจำเลยซึ่งเป็นหน่วยราชการของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้

พิพากษายืน

Share