คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 788/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรื่องละเมิด ขับไล่ ขอให้จำเลยออกจากห้องพิพาท และส่งมอบห้องพิพาทให้โจทก์ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายที่ขาดประโยชน์ตั้งแต่วันละเมิดถึงวันฟ้อง กับค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบห้องพิพาท ศาลพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบห้องพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนี้ แม้คำพิพากษาจะไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งให้ขับไล่จำเลย หรือให้จำเลยส่งมอบห้องพิพาทให้แก่โจทก์ก็ตามแต่การแปลคำพิพากษาต้องพิเคราะห์เกี่ยวกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษา เมื่อคำพิพากษาได้วินิจฉัยว่าจำเลยอยู่ในห้องพิพาท โดยไม่มีสิทธิจะอ้างได้ และพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจนกว่าจำเลยจะส่งมอบห้องพิพาท จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่า คำพิพากษามุ่งประสงค์ให้จำเลยออกจากห้องพิพาทและส่งมอบห้องพิพาทตามฟ้อง

ย่อยาว

เดิมนายสามารถโจทก์ที่ 1 นายสุลัยโจทก์ที่ 2 ฟ้องนางจันทนาจำเลยที่ 1 นายบุ้นจำเลยที่ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงบุ้นเซ้งจำเลยที่ 3 เรื่องเช่าทรัพย์ ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้องถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,000 บาท กับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้ทำสัญญาเช่าให้โจทก์เป็นผู้เช่าถ้าไม่จัดการหรือจัดการดังกล่าวไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินกินเปล่าให้โจทก์เป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่เดือนมีนาคม 2503 จนกว่าจะชำระให้เสร็จ

นางจันทนาจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องนายบุ้นจำเลยที่ 2 ห้างหุ้นส่วนจึงบุ้นเซ้งจำเลยที่ 3 นายสุลัยโจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ นายสามารถโจทก์ที่ 1 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วม เรื่องละเมิดขับไล่ ขอให้จำเลยออกจากห้องพิพาทและส่งมอบห้องพิพาทให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยเสียค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000 บาท และค่าเสียหายเป็นรายเดือนเดือนละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบห้องพิพาท

คดีทั้งสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายสามารถโจทก์ที่ 1 นายสุลัยโจทก์ที่ 2ใช้ค่าเสียหายให้นางจันทนาจำเลยคิดเป็นรายเดือน ๆ ละ 80 บาทนับแต่เดือนเมษายน 2503 จนถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบห้องพิพาทให้แก่นางจันทนาจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้องของนางจันทนาจำเลยที่ 1 เฉพาะที่เกี่ยวกับนายบุ้นและห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงบุ้นเซ้ง โดยให้บังคับคดีภายใน 30 วัน

นายสามารถโจทก์ที่ 1 นายสุลัยโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์

ระหว่างอุทธรณ์ นางจันทนาจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและหมายจับนายสามารถโจทก์ที่ 1 นายสุลัยโจทก์ที่ 2

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ในวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นสอบถามคู่ความเรื่องนางจันทนาจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอดังกล่าวโจทก์แถลงว่าโจทก์ทั้งสองยังอยู่ในห้องพิพาทเพราะคำบังคับไม่ได้ออกให้ส่งมอบห้องพิพาทศาลชั้นต้นเห็นว่า คำพิพากษาและคำบังคับชัดเจนอยู่แล้วว่า โจทก์ไม่มีอำนาจอยู่และจะต้องออกไปตามคำบังคับ จึงให้โจทก์ทั้งสองออกจากห้องพิพาทและส่งมอบห้องให้จำเลยภายใน 7 วัน ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกจับขังฐานขัดคำสั่ง

นายสามารถโจทก์ที่ 1 นายสุลัยโจทก์ที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การแปลคำพิพากษาต้องพิเคราะห์เกี่ยวกับข้อวินิจฉัยในคำพิพากษาทั้งหมด คำพิพากษาคดีนี้วินิจฉัยว่า โจทก์อยู่ในห้องพิพาทโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ อันเป็นการละเมิดต่อจำเลยที่ 1 แสดงว่าโจทก์อยู่โดยผิดกฎหมาย ทำให้เสียหายแก่จำเลยที่ 1แต่จะบังคับตามวิธีการในชั้นบังคับคดีในทันทีไม่ได้ จึงกำหนดค่าเสียหายเป็นรายเดือน จนกว่าโจทก์จะส่งมอบห้องพิพาทคืน คำว่า”จนกว่าโจทก์จะส่งมอบห้องพิพาทคืน” แสดงว่าเป็นส่วนประกอบหรือชี้ว่าจะต้องส่งมอบห้องพิพาทคืนแก่เจ้าของ จึงมีความหมายอยู่ในตัวว่าคำพิพากษามุ่งประสงค์ให้ออกจากห้องพิพาทและส่งมอบห้องพิพาทดังฟ้อง พิพากษายืน

แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งทำความเห็นแย้งว่า คำว่า”จนกว่าโจทก์ทั้งสองจะส่งมอบห้องพิพาทคืน” ควรแปลว่าเป็นเรื่องกำหนดเวลาสิ้นสุดการใช้ค่าเสียหายมากกว่า มิฉะนั้นจะเป็นการแปลคำพิพากษาให้ฝ่ายแพ้คดีเสียหาย เพราะโจทก์ผู้แพ้อาจไม่นึกถึงว่าจะถูกขับไล่ออกจากห้องพิพาท จึงไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ควรพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นไม่บังคับให้โจทก์ออกจากห้องพิพาท

นายสามารถโจทก์ที่ 1 นายสุลัยโจทก์ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยตามสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารที่พิพาท จำเลยที่ 2, 3 และโจทก์ที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบห้องพิพาทให้จำเลยที่ 1 นั้น น่าจะหมายความว่า จำเลยที่ 2, 3 และโจทก์ที่ 2 ไม่มีหน้าที่ต้องส่งมอบห้องพิพาทตามข้อความแห่งสัญญาเท่านั้น แต่ได้วินิจฉัยต่อมาว่าโจทก์ทั้งสองอยู่ในห้องพิพาทโดยไม่มีสิทธิ จึงพิพากษาให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าเสียหายคิดเป็นรายเดือนจนกว่าจะส่งมอบคืนห้องพิพาทให้จำเลยที่ 1 ดังนี้ เมื่อโจทก์อยู่ในห้องพิพาทโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้ก็ย่อมมีหน้าที่ส่งมอบคืนห้องพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 อยู่ในตัวถ้าไม่มีหน้าที่ส่งมอบจะพิพากษาว่าจนกว่าจะส่งมอบได้อย่างไรหากจะแปลว่า จนกว่าจะส่งมอบคืนห้องพิพาท เป็นเรื่องกำหนดเวลาสิ้นสุดแห่งการใช้ค่าเสียหาย ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้โจทก์อยู่ในห้องพิพาทจนกว่าสิ้นอยากที่จะอยู่ ซึ่งขัดกับคำวินิจฉัยว่า โจทก์อยู่ในห้องพิพาทโดยไม่มีสิทธิที่จะอ้างได้

พิพากษายืน

Share