คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่า โจทก์ไม่สามารถส่งมอบที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ที่ขายทอดตลาดให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวได้ออกทับโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่เลย เท่ากับอ้างว่าโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ ถือได้แล้วว่าเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองแล้ว เมื่อได้ความว่า มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกันและยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้ได้ ส่วนเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2541 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ 469,979.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปี ในต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2541 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับยอมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลไม่สั่งคืน และค่าทนายความแทนโจทก์อีกต่างหากเป็นเงิน 2,000 บาท โดยจำเลยทั้งสองจะนำไปชำระให้ที่ธนาคารโจทก์ สาขาลำปาง ภายในวันและเวลาทำการของโจทก์ จำเลยทั้งสองยอมร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ หากผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้นตามกำหนดเวลาดังกล่าวยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยการยึดทรัพย์จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1903 เลขที่ดิน 130 ตำบลปงยางคก อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดตามฟ้อง และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสอง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2546 ผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดลำปางยึดทรัพย์จำนองดังกล่าว ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2546 เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 360,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ชำระราคาครบแล้วและรับหนังสือแจ้งการโอนสิทธิครอบครองพร้อมต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1903 ไปขอจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครอง แต่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำปาง สาขาห้างฉัตร ไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้ ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ขอให้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด และคืนเงินที่ผู้ซื้อทรัพย์ชำระไว้พร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ซื้อทรัพย์
สำนักงานบังคับคดีจังหวัดลำปางมีหนังสือถึงศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดต่อไป
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สมควรให้เพิกถอนการขายทอดตลาดรายนี้หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่าคำร้องของผู้ซื้อทรัพย์มิได้กล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าผืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น เห็นว่า การที่คำร้องของผู้ซื้อทรัพย์อ้างว่าโจทก์ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ที่ดินที่ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ เนื่องจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวได้ออกทับโฉนดที่ดินแปลงอื่นโดยไม่มีเนื้อที่เหลืออยู่เลย เท่ากับอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถส่งมอบทรัพย์ที่ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์ ซึ่งผิดไปจากปกติธรรมดาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งมอบทรัพย์ที่ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์ได้ การที่อ้างว่าโจทก์หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินมาขายทอดตลาดแต่ไม่สามารถส่งมอบแก่ผู้ซื้อทรัพย์เช่นนี้ ถือได้แล้วว่าเป็นการอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารที่ทางสำนักงานที่ดินส่งมายังศาลชั้นต้น ปรากฏเบื้องต้นว่าโฉนดที่ดิน 8 ฉบับ ออกมาภายหลังหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นการออกทับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มิใช่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ออกทับโฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์จึงชอบด้วยกฎหมาย ตราบใดยังไม่ถูกเพิกถอนต้องถือว่ายังชอบด้วยกฎหมายอยู่ เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ซื้อได้จากการขายทอดตลาด ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอากับผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน 8 ฉบับ ต่อไปนั้น เห็นว่า ในชั้นนี้เป็นการพิจารณาเพียงว่าสมควรเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่เท่านั้น เมื่อได้ความว่ามีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทับซ้อนกัน และยังมิได้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่ง ย่อมมีเหตุขัดข้องในการบังคับคดีให้ลุล่วงไป คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียังมิได้ถอนการบังคับคดี การเพิกถอนการขายทอดตลาดมีผลเพียงเท่ากับยังมิได้ขายทอดตลาด ต่อไปภายหน้าหากเรื่องเอกสารสิทธิในที่ดินยุติลงก็อาจนำออกขายทอดตลาดใหม่ได้ และผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยทั่วไปย่อมคาดหวังที่จะได้รับโอนทางทะเบียนทันทีที่จ่ายเงินครบถ้วน หากไม่สามารถโอนได้ทันทีหรือต้องไปว่ากล่าวเอากับผู้เกี่ยวข้องในที่ดินที่ซื้ออีกก็คงจะไม่ซื้อหรือซื้อในราคาถูกลง การที่จะให้ผู้ซื้อทรัพย์ไปว่ากล่าวเอากับผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ย่อมไม่เป็นการยุติธรรมแก่ผู้ซื้อทรัพย์ ส่วนเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินฉบับใดฉบับหนึ่งหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้เกี่ยวข้องอาจว่ากล่าวกันต่อไปต่างหากหลังจากเพิกถอนการขายทอดตลาดแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นนอกจากที่ศาลชั้นต้นได้สั่งไปแล้ว และค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share