คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7878/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

อุจจาระและปัสสาวะกระเด็นไปถูกโต๊ะหมู่บูชาซึ่งจากสภาพที่โต๊ะหมู่บูชาทำจากไม้เนื้อแข็งลงรักปิดทอง ความเสียหายเปรอะเปื้อนมีเพียงบางจุด เกิดเหตุปี 2537 ขณะพยานโจทก์เบิกความปี 2539โต๊ะหมู่บูชายังคงวางใช้งานอยู่ในที่เดิม แสดงว่าเมื่อทำความสะอาดแล้วก็ใช้งานได้ จึงไม่ได้เกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่ประการใด
รายงานการประชุมคณะกรรมการประเมินมูลค่าความเสียหายที่กำหนดราคาพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ไว้ 10 ล้านบาทนั้น เป็นการประเมินมูลค่าของพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ไม่ใช่เป็นการตีราคาค่าเสียหายการทำละเมิดของจำเลยไม่ได้ทำให้พระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เสียหายไปทั้งหมด คงเสียหายเพียงบางส่วนทั้ง ป. อาจารย์ด้านศิลปะมหาวิทยาลัย ศ. เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าพระบรมสาทิสลักษณ์ฯสามารถซ่อมได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้จำนวน50,000 บาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าความเสียหายที่กำหนดในส่วนคดีอาญาถึงสองเท่านั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีปลัดกระทรวงเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ เมื่อวันที่ 7กันยายน 2537 จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ของโจทก์ แล้วจงใจใช้ถุงพลาสติกบรรจุอุจจาระและปัสสาวะขว้างปาไปยังร่างกายของนายอุทัย พิมพ์ใจชน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถุงพลาสติกถูกร่างกายของนายอุทัยที่ใบหน้าแล้วแตกออก อุจจาระและปัสสาวะบางส่วนกระเด็นไปถูกผ้าม่าน พรมเก้าอี้นั่ง ไมโครโฟน ธงชาติและธงตราประจำกระทรวง โต๊ะหมู่บูชาพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ รัชกาลปัจจุบัน รวมค่าเสียหายของทรัพย์สิน7 รายการ เป็นเงิน 10,035,120 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวชดใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 10,035,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 734,075 บาท

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 60,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายของโต๊ะหมู่บูชาและพระบรมสาทิสลักษณ์ฯว่ามีจำนวนเท่าใด โต๊ะหมู่บูชานั้น โจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวน 25,000บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 ข้อเท็จจริงปรากฏจากคำเบิกความของนายวงศ์ศักดิ์ จารุวนาลัย พยานโจทก์ว่าผลจากการที่จำเลยใช้ถุงพลาสติกบรรจุปัสสาวะและอุจจาระขว้างไปถูกบริเวณใบหน้าของนายอุทัย พิมพ์ใจชนแล้วปรากฏว่าอุจจาระและปัสสาวะกระเด็นไปถูกโต๊ะหมู่บูชาซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือของนายอุทัย พิมพ์ใจชน ตามภาพถ่ายหมาย จ.8 ภาพที่ 1 และภาพที่ 5 นายอุทัย ชำนาญผล ฝ่ายพัสดุกองคลังเบิกความว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วมีผู้เข้าไปทำความสะอาด 5 คน โต๊ะหมู่บูชาเป็นโต๊ะหมู่บูชาโบราณ มีการลงรักปิดทอง จุดที่ตั้งห่างจากตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไม่เกิน3 เมตร และว่าโต๊ะหมู่บูชาไม่ได้ลงไปซ่อมแต่จะเปลี่ยนใหม่โดยติดต่อสืบราคาตามร้านจำหน่ายโต๊ะหมู่บูชาแล้ว ตามใบเสนอราคาเอกสารหมายจ.6 ส่วนนายเอนก ช้างแจ้ง นักการภารโรงพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าเป็นผู้ทำความสะอาดโต๊ะหมู่บูชา โต๊ะหมู่บูชาดังกล่าวทำด้วยไม้เนื้อแข็งลงรักปิดทอง ได้ทำความสะอาดโดยใช้ผ้าขาวเช็ดส่วนที่เปื้อนอุจจาระเห็นว่า จากภาพถ่ายหมาย จ.8 ภาพที่ 1 และภาพที่ 5 โต๊ะหมู่บูชาตั้งอยู่ห่างจากตัวนายอุทัย พิมพ์ใจชน ไปทางด้านซ้ายประมาณ 2 ถึง 3 เมตรแม้ถุงอุจจาระและปัสสาวะจะแตกกระจายก็คงกระเด็นไปเปื้อนโต๊ะหมู่บูชาไม่มากนักตามภาพถ่ายหมาย จ.8 ภาพที่ 5 มีจุดทำเครื่องหมายวงกลมอยู่ 5 แห่ง และนายอุทัย ชำนาญผล ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ปัจจุบันโต๊ะหมู่บูชายังไม่ได้มีการเปลี่ยนคงวางใช้งานอยู่ดังนี้ จากสภาพที่โต๊ะหมู่บูชาทำจากไม้เนื้อแข็งลงรักปิดทอง ความเสียหายเปรอะเปื้อนมีเพียงบางจุด เกิดเหตุปี 2537 ขณะพยานโจทก์เบิกความปี 2539 โต๊ะหมู่บูชายังคงวางใช้งานอยู่ในที่เดิม แสดงว่าเมื่อทำความสะอาดแล้วก็ใช้งานได้และไม่ได้เกิดความเสียหายตามที่โจทก์กล่าวอ้างแต่ประการใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการที่โต๊ะหมู่บูชาเปื้อนอุจจาระอันเป็นสิ่งโสโครก ย่อมทำให้เกิดความมัวหมองไม่บังควรที่จะนำโต๊ะหมู่บูชามาใช้วางพระพุทธรูปอันเป็นที่สักการะบูชาของคนทั่วไปนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวเป็นความนึกคิดของพยานโจทก์เอง ประกอบกับโจทก์ก็ยังคงใช้โต๊ะหมู่บูชาอยู่ แสดงว่าไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

สำหรับพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ นั้น โจทก์เรียกค่าเสียหายจำนวน10,000,000 บาท โดยอ้างรายงานการประชุมคณะกรรมการประเมินมูลค่าความเสียหายตามเอกสารหมาย จ.7 มีนายประหยัด พงษ์คำผู้แทนคณบดีคณะจิตรกรรม นายสมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ผู้แทนผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์และนายสุริยา เทพสาตรา ผู้แทนกรมศิลปากรเบิกความถึงวิธีคิดประเมินราคา และภาพมีความเสียหายคือภาพสีซีดจางตั้งแต่ข้อพระหัตถ์ขวาจนถึงช่วงล่างของภาพเขียนจากการตรวจสอบพบว่าสีที่จางนั้นเกิดจากการใช้แปรงขัดถูและใช้น้ำยาทำความสะอาดล้าง ซึ่งนายเอนก ช้างแจ้ง นักการภารโรงผู้ทำความสะอาดเบิกความรับว่าใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบีบให้แห้งแล้วเช็ดถูไปมาทำอยู่ 3 ครั้ง ไม่ทราบมาก่อนว่าวิธีทำความสะอาดดังกล่าวทำให้เป็นคราบได้จากคำพยานโจทก์ประกอบรายละเอียดในเอกสารหมาย จ.7 เชื่อว่าพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เสียหายเพราะเกิดจากการทำความสะอาดผิดวิธีด้วย แม้จะเป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำของจำเลยก็ตาม แต่นายสุริย เทพสาตรา ก็เบิกความในส่วนนี้ว่าสำหรับราคา 10,000,000 บาท เป็นราคาพระบรมสาทิสลักษณ์ฯไม่ใช่ตีราคาความเสียหายของภาพ และเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตามบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย ล.3 ตีราคาพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เป็นเงิน 25,000 บาท เห็นว่า ตามเอกสารหมายจ.7 เป็นการประเมินมูลค่าของพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ไม่ใช่เป็นการตีราคาค่าเสียหาย ส่วนค่าเสียหายอันเกิดจากการกระทำของจำเลยนั้นในส่วนคดีอาญาตามบัญชีแสดงทรัพย์ถูกประทุษร้ายเอกสารหมาย จ.3ปรากฏว่า พระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ตีราคาไว้ 25,000 บาท และตามเอกสารหมาย ล.6 คำให้การชั้นสอบสวนของนายสนิท วรปัญญาผู้กล่าวหาที่ 2 รองปลัดกระทรวงพาณิชย์รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้แจ้งความร้องทุกข์ก็ระบุความเสียหายของพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ จำนวน 25,000 บาท เช่นเดียวกัน ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ มิได้เสียหาย ปัจจุบันยังคงอยู่ในห้องประชุม เมื่อพิจารณาภาพถ่ายหมาย จ.8 ภาพที่ 1 ภาพที่ 5 และภาพที่ 6 แล้ว เห็นได้ว่า การทำละเมิดของจำเลยไม่ได้ทำให้พระบรมสาทิสลักษณ์ฯ เสียหายไปทั้งหมด คงเสียหายเพียงบางส่วนทั้งนายปรีชา เถาทอง อาจารย์ด้านศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ สามารถซ่อมได้ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้จำนวน50,000 บาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าความเสียหายที่กำหนดในส่วนคดีอาญาถึงสองเท่านั้นนับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share