แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 แต่การขายสินค้าหรือการให้บริการนั้นยังมิได้เสร็จเด็ดขาดหรือสิ้นสุดลงก่อนวันดังกล่าวผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าต่อไป แต่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราดังกล่าวจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เมื่อโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535แต่การซื้อขายมิได้เสร็จเด็ดขาดก่อนวันดังกล่าวโจทก์ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จากจำเลยได้ คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าวัสดุก่อสร้างตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงไม่อาจนำอายุความกำหนด 2 ปี มาใช้บังคับกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/4 กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่เรียกเก็บจากจำเลยเพื่อนำไปชำระแก่กรมสรรพากรและโจทก์ได้ชำระแทนจำเลยไปแล้วซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 เมื่อนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นมาจนถึงวันฟ้องไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการค้าวัสดุก่อสร้างเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2534 ซึ่งยังใช้ระบบภาษีการค้าจำเลยทำสัญญาซื้อวัสดุก่อสร้างจากโจทก์ โดยตกลงราคาแบบเหมารวมเพื่อส่งมอบให้ครบตามจำนวนที่ระบุไว้ในแบบและรายละเอียดประกอบ รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายต่าง ๆเป็นเงินเหมารวมทั้งสิ้น 249,633,714 บาท จำเลยตกลงจะจ่ายเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าวให้โจทก์เป็นงวดงวดละเดือน โดยคำนวณจากจำนวนวัสดุก่อสร้างที่ส่งมอบให้แก่จำเลย สัญญาดังกล่าวมิได้ระบุให้ภาระภาษีที่เกิดจากค่าสินค้าตามสัญญาไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ รวมหรือถือว่ารวมอยู่ในราคาวัสดุก่อสร้าง โจทก์ได้จัดซื้อและส่งมอบวัสดุก่อสร้างให้แก่จำเลยตามสัญญาแล้ว ในระหว่างอายุสัญญาได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ให้ยกเลิกระบบภาษีการค้าและนำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มใช้แทนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 โจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 คำนวณภาษีโดยนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยในฐานะผู้ซื้อสินค้าในอัตราร้อยละ 7 ของเงินค่าสินค้า โจทก์ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปโจทก์ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) ในอัตราร้อยละ 7 สำหรับสินค้างวดที่ 9 ถึง 42 รวมเป็นเงิน198,785,383 บาท คิดเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) จำนวน 13,914,976.86 บาท แต่จำเลยไม่ชำระโจทก์ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร และทวงถามจำเลยแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยเป็นผู้ผิดนัดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าสินค้าสำหรับงวดงานดังกล่าวแก่กรมสรรพากรจนกว่าจะชำระเสร็จ คิดถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยรวม 4,752,939.09 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน18,667,916.95 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 18,667,915.95 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยได้ตกลงราคาวัสดุก่อสร้างเป็นราคา “เหมารวม” และเป็นราคา “ที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง”ดังนั้นราคาที่โจทก์ขายให้แก่จำเลยจึงเป็นราคาที่รวมภาษีการค้าไว้แล้ว ในขณะทำสัญญาโจทก์ต้องรับภาระภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 9 ไม่ว่าโจทก์จะเป็นผู้ผลิตเองหรือซื้อสินค้ามาแล้วขายไป เมื่อต่อมาโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าแต่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ต้องรับไปซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มจะปัดความรับผิดให้จำเลยหาได้ไม่ สัญญาซื้อขายที่โจทก์ทำกับจำเลยได้กระทำก่อนใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการคำนวณราคาวัสดุโจทก์ได้คำนวณภาษีทางอ้อมรวมอยู่ในวัสดุแล้ว เมื่อเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ยจำนวนตามฟ้องให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ หนี้ตามสัญญาดังกล่าวเป็นหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีอายุความ 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่14 กันยายน 2538 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งมอบสินค้าในเดือนมกราคม 2535 ถึงเดือนกรกฎาคม 2536 จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน13,914,976.86 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 3 กันยายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2534 จำเลยได้ทำสัญญาจ้างบริษัทฟิลิพพ์ ฮอลส์แมนน์ (ไทย) จำกัด ก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารจอดรถ และทำสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างกับโจทก์เพื่อใช้ก่อสร้างในโครงการดังกล่าวเป็นราคาเหมารวมจำนวนเงิน 249,633,714 บาท ต่อมาได้มีการแก้ไขประมวลรัษฎากรโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535ให้นำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทนภาษีการค้าโจทก์จึงได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยสำหรับค่าวัสดุก่อสร้างที่ส่งมอบให้แก่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535เป็นต้นไป ในงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 42 แต่จำเลยไม่ชำระ
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกมีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7ของค่าวัสดุก่อสร้างงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 42 จากจำเลยหรือไม่เห็นว่าพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30)พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ได้บัญญัติให้ยกเลิกภาษีการค้าและมาตรา 8 ประกอบด้วยมาตรา 2(2) บัญญัติให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับแทนภาษีการค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 เป็นต้นไปอย่างไรก็ดี กรณีที่การขายสินค้าหรือการให้บริการได้เสร็จเด็ดขาดหรือการให้บริการได้สิ้นสุดลงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535 มาตรา 24 ได้บัญญัติให้ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการยังคงเสียภาษีการค้าต่อไป ดังนั้น กรณีที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการก่อนวันที่ 1 มกราคม 2534 การขายสินค้าหรือการให้บริการนั้นยังมิได้เสร็จเด็ดขาดหรือสิ้นสุดลงก่อนวันดังกล่าว ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าต่อไป แต่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ7 มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราดังกล่าวจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างก่อนวันที่ 1 มกราคม 2535แต่การซื้อขายมิได้เสร็จเด็ดขาดก่อนวันดังกล่าว โจทก์ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 จากจำเลยได้หากบริษัทฟิลิพพ์ ฮอลล์แมนน์ (ไทย) จำกัด ได้รวมค่าภาษีอากรไว้ในราคาค่าก่อสร้างจริง ก็เป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยกับบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์หาเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลยไม่
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อมามีว่าราคาวัสดุก่อสร้างตามสัญญาได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้วหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าในขณะทำสัญญาระบบภาษีมูลค่าเพิ่มยังไม่ได้ใช้บังคับจึงมิได้มีข้อตกลงให้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ส่วนจำเลยนำสืบว่า ในการก่อสร้างอาคารจำเลยได้มีการเจรจากับบริษัทฟิลิพพ์ ฮอลล์แมนน์ (ไทย) จำกัด ในราคา710,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 10ซึ่งราคาดังกล่าวได้รวมค่าวัสดุ ค่าดำเนินการค่าความเสี่ยงและค่าภาษีทั้งหมดไว้แล้ว แต่ในเวลาที่มีการทำสัญญาบริษัทดังกล่าวได้ขอทำสัญญาเป็น 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งทำเป็นสัญญาจ้างก่อสร้างกับบริษัทดังกล่าวในราคาเหมารวม 460,366,286 บาทซึ่งราคานี้ได้รวมค่าภาษีอากรและค่าความเสี่ยงไว้แล้วส่วนอีกฉบับหนึ่งทำเป็นสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างกับโจทก์ในราคาเหมารวม 249,633,714 บาท รวมราคาค่าจ้างก่อสร้างและค่าวัสดุก่อสร้างทั้งสองสัญญาเป็นเงิน710,000,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจึงรวมอยู่ในราคาดังกล่าวแล้วเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงตามข้อนำสืบของจำเลยจะได้ความว่านายโมเกนส์ เฮนนิ่งเช่น ซึ่งเป็นกรรมการทั้งบริษัทโจทก์และบริษัทฟิลิพพ์ ฮอลส์แมนน์ (ไทย) จำกัด เคยทำหนังสือเลตเตอร์ออฟอินเทนท์ (Letter of Intent) เสนอราคาค่าก่อสร้างต่อจำเลยทั้งหมดเป็นเงิน 710,000,000 บาท ก็ตามแต่หนังสือดังกล่าวก็มิได้ระบุว่าราคาก่อสร้างจำนวนดังกล่าวรวมค่าภาษีไว้ด้วย ทั้งสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างที่จำเลยได้ทำไว้กับโจทก์ในราคา 249,633,714 บาท ก็มิได้ระบุว่าราคาดังกล่าวรวมค่าภาษีไว้แล้ว แม้หนังสือสรุปราคาค่าก่อสร้างจะระบุว่ามีค่าภาษีจำนวน 29,923,809 บาท รวมอยู่ด้วยแต่หนังสือดังกล่าวก็เป็นหนังสือตามสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่างจำเลยกับบริษัทฟิลิพพ์ ฮอลส์แมนน์ (ไทย) จำกัด สำหรับราคาค่าจ้างก่อสร้าง 460,366,286 บาท มิใช่หนังสือตามสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยแต่อย่างใด จึงถือว่าราคาซื้อขายวัสดุก่อสร้างจำนวน 249,633,714 บาท มีภาษีรวมอยู่ด้วยไม่ได้ ส่วนข้อความในสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างที่ระบุว่าราคา 249,633,714 บาท เป็นราคาเหมารวมและเป็นราคาที่แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงก็คงมีความหมายแต่เพียงว่ายอดจำนวนเงินของราคาค่าวัสดุก่อสร้างที่โจทก์ได้ตกลงขายให้แก่จำเลยเป็นราคาเหมารวมแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง มิได้มีความหมายให้เห็นรวมไปถึงค่าภาษีดังข้ออ้างของจำเลยได้นอกจากนี้หากพิจารณาในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างระหว่างกันทั้งโจทก์และจำเลยก็รับว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับในขณะนั้นจึงยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่าราคาค่าวัสดุก่อสร้างจำนวน249,633,714 บาท ไม่ได้รวมภาษีไว้ด้วย ประการสำคัญในขณะที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างภาษีมูลค่าเพิ่มยังมิได้ใช้บังคับ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ราคาค่าวัสดุก่อสร้างจำนวนดังกล่าวจะมีภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วยข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างตามสัญญาซื้อขายวัสดุก่อสร้างเอกสารหมาย จ.2 มิได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ด้วย
ปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายที่ว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าสินค้าขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกราคาค่าสินค้าวัสดุก่อสร้างตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่อาจนำอายุความกำหนด 2 ปี มาใช้บังคับ กรณีในคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ตามที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/4 กำหนดให้โจทก์มีหน้าที่เรียกเก็บจากจำเลยเพื่อนำไปชำระแก่กรมสรรพากรและโจทก์ได้ชำระแทนจำเลยไปแล้ว ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30เมื่อนับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นมาจนถึงวันฟ้องไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน