คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2532

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้เลิกกิจการแล้วผู้ร้องจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะจ้างผู้คัดค้านต่อไป กรณีมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งหมดได้ ดังนี้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่ากิจการของผู้ร้องจะยุบเลิกหรือหยุดดำเนินกิจการได้ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบเลิกหรือหยุดดำเนินการออกใช้บังคับ จึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะวินิจฉัยเพราะการที่ผู้ร้องยุบเลิกกิจการหรือหยุดดำเนินการจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ไม่เกี่ยวกับการที่ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านในคดีนี้ เมื่อได้ความว่าผู้ร้องได้เลิกกิจการแล้ว ผู้ร้องก็ชอบที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้างได้.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมีพลเรือตรีประกอบ จันทศรี เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการมีอำนาจดำเนินการแทนผู้ร้องได้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ผู้ร้องดำเนินกิจการจนถึงเดือนกันยายน 2531 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2531 ให้ผู้ร้องหยุดดำเนินกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 คณะกรรมการบริหารกิจการของผู้ร้องจึงมีมติให้พนักงาน ลูกจ้าง ของผู้ร้องทุกคนพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ และให้ได้รับเงินบำเหน็จ เงินชดเชย (น่าจะเป็นค่าชดเชย) ตามกฎหมายและได้เลิกจ้างลูกจ้างทุกคน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2531 เป็นต้นไปแต่เนื่องจากลูกจ้างตามบัญชีรายชื่อท้ายคำร้องเป็นคณะกรรมการลูกจ้าง การเลิกจ้างต้องขออนุญาตจากศาล ผู้ร้องจึงขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2531 ด้วย
กรรมการลูกจ้างที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 10 ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การที่ผู้ร้องจะหยุดดำเนินกิจการและโอนกิจการให้บุคคลอื่นตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นหาทำได้ไม่ การที่ผู้ร้องจะยุบเลิกหรือหยุดดำเนินกิจการจะต้องตราออกเป็นพระราชกฤษฎีกา เพราะมติของคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย การหยุดดำเนินกิจการและโอนกิจการให้บุคคลอื่น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายถือได้ว่าผู้ร้องยังไม่มีการหยุดดำเนินกิจการแต่อย่างใด ทั้งผู้ร้องยังไม่หยุดดำเนินกิจการผู้ร้องยังคงเปิดดำเนินกิจการและยังมีพนักงานทำงานอยู่กับผู้ร้อง การที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เมื่อศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้เลิกจ้างแล้ว ผู้ร้องจึงจะเลิกจ้างได้แม้ผู้ร้องจะได้รับอนุญาตจากศาลให้เลิกจ้างผู้คัดค้านได้ผู้ร้องจะต้องมีคำสั่งเลิกจ้างอีกครั้งหนึ่ง หามีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2531 ตามที่ผู้ร้องขอไม่
กรรมการลูกจ้างที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ถึงที่ 9 และที่ 11 ไม่คัดค้าน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเลิกกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมด ไม่ประกอบกิจการต่อไป ซึ่งผู้ร้องสามารถกระทำได้เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจต้องปฏิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อผู้ร้องไม่มีเหตุจำเป็นที่จะจ้างผู้คัดค้านต่อไป จึงมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งหมดได้ จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างคณะกรรมการลูกจ้าง คือ ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ ส่วนที่ผู้ร้องขอให้การเลิกจ้างมีผลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531ด้วย ให้ยกเสีย
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 10 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 5และที่ 10 อุทธรณ์ว่าการจัดตั้งกิจการผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเป็นการจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูป พ.ศ. 2498 การจัดตั้งกิจการดังกล่าวต้องอาศัยอำนาจของกฎหมาย มิใช่เป็นการจัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีดังนั้น การที่กิจการของผู้ร้องจะยุบเลิกหรือหยุดดำเนินกิจการก็ต้องอาศัยอำนาจของกฎหมายโดยต้องตราออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้ยุบเลิกหรือหยุดดำเนินกิจการของผู้ร้องเท่านั้น การที่ผู้ร้องต้องหยุดดำเนินกิจการตามมติของคณะรัฐมนตรี จึงหาอาจทำได้ไม่ เพราะว่ามติของคณะรัฐมนตรีไม่ใช่กฎหมาย จึงถือได้ว่าผู้ร้องยังมิได้มีการหยุดดำเนินกิจการแต่อย่างใด การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้ง 11 คน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายพิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้เลิกกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 ผู้ร้องจึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะจ้างผู้คัดค้านต่อไป กรณีมีเหตุสมควรที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านทั้งหมดได้ ดังนี้ ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3ที่ 5 และที่ 10 อุทธรณ์ว่ากิจการของผู้ร้องจะยุบเลิกหรือหยุดดำเนินกิจการได้ ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบเลิกหรือหยุดดำเนินการออกใช้บังคับจึงไม่มีประโยชน์ที่ศาลจะวินิจฉัยเพราะการที่ผู้ร้องยุบเลิกกิจการหรือหยุดดำเนินการจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ไม่เกี่ยวกับการที่ผู้ร้องขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้านในคดีนี้ เมื่อได้ความว่าผู้ร้องได้เลิกกิจการแล้วจริงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2531 ผู้ร้องก็ชอบที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 10 ซึ่งเป็นคณะกรรมการลูกจ้างได้…’
พิพากษายืน.

Share