แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ทำการแทนบริษัทก็คือกรรมการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง แต่กรรมการก็คงมีอำนาจหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามที่บริษัทมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1144 และตามผลของมาตรา 1167 กรรมการมีฐานะเป็นผู้แทนและเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทด้วย โดยกรรมการต้องมีการจดทะเบียนตามมาตรา 1157 และถือว่ากรรมการที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเป็นกรรมการของบริษัท
คดีนี้ ศ. เป็นกรรมการของจำเลย ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ศ. จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการงานของจำเลย เว้นแต่การลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยเท่านั้นที่ ศ. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของจำเลยตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนั้น ส่วนที่จำเลยกำหนดให้ ศ. อยู่ในงานด้าน MKT. Advisor ตามแผนผังองค์กรก็เป็นเพียงการกำหนดตำแหน่งงานในส่วนของ MKT. โดยไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดอำนาจหน้าที่จัดการงานในส่วนอื่นในฐานะกรรมการ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ ศ. พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลย ศ. จึงเป็นผู้แทนของจำเลยในการแสดงความประสงค์ของจำเลย และเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในการจัดการงานของจำเลย จึงเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
โจทก์เบิกความว่าตามบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 โจทก์ไปประชุมไม่ได้ออกไปทำงานส่วนตัว และปรากฏว่าในบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8 โจทก์จดบันทึกไว้ด้วยว่าไปประชุม โดยโจทก์ได้รับคำสั่งจาก ศ. และไปกับ ศ. ทุกครั้ง สถานที่ไปเป็นบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จึงมีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์จดบันทึกชี้แจงให้ฝ่ายจัดการทราบถึงการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งของจำเลยในบันทึกการประชุมผู้จัดการฝ่ายเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับปฏิบัติตามคำสั่งในการตอกบัตรลงเวลาทำงาน และจดบันทึกการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งในเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 คำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 ที่ออกโดย ว. ซึ่งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยอันเป็นการวางระเบียบการทำงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ใช้บังคับแก่พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกคนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะแก่คนใดคนหนึ่ง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม มีผลใช้บังคับได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 11,289,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 424,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 53,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวตามลำดับ นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 53,000 บาท วันที่ 26 สิงหาคม 2551 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้าง โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี แล้ววินิจฉัยว่า นายศักดิ์ชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยย่อมถือได้ว่า โจทก์มีนายศักดิ์ชัยเป็นนายจ้างด้วย โจทก์ไปจังหวัดขอนแก่นเป็นการไปทำงานตามคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากนายศักดิ์ชัยผู้เป็นนายจ้าง โจทก์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน คำสั่งที่ปรากฏในบันทึกการประชุม ไม่อาจใช้บังคับกับโจทก์ จำเลยยังไม่ดำเนินการใดๆ หลังจากมีบุคคลภายนอกนำหัวเป่าถุงพลาสติกออกไปจากโรงงาน กรณียังมีข้อโต้แย้งว่าหัวเป่าถุงพลาสติกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายศักดิ์ชัยหรือจำเลย จำเลยอนุมัติให้โจทก์ลากิจและลาหยุดพักผ่อนประจำปี มีการต่อใบอนุญาตเกี่ยวกับโรงงานของจำเลยแล้วโดยไม่มีผลเสียหาย โจทก์มิได้กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง และโจทก์มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อัตราดอกเบี้ยของค่าชดเชยกำหนดให้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ร้อยละ 15 ต่อปี
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า นายศักดิ์ชัย เป็นนายจ้างของโจทก์หรือไม่ ซึ่งจำเลยอ้างว่านายศักดิ์ชัยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย แต่ต้องได้รับความยินยอมจากกรรมการอื่น ๆ จึงจะมีอำนาจตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนของบริษัทโจทก์ นายศักดิ์ชัยโดยลำพังไม่มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย จึงไม่เป็นนายจ้างของโจทก์ เห็นว่า โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 บัญญัติว่า “บรรดาบริษัทจำกัดให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง” ผู้ทำการแทนบริษัทก็คือกรรมการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทตามมาตรา 70 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล” แต่กรรมการบริษัทก็คงมีอำนาจหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามที่บริษัทมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ และมาตรา 1167 บัญญัติว่า “ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทและบุคคลภายนอกนั้น ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน” ตามผลของมาตรา 1167 กรรมการจึงมีฐานะเป็นผู้แทนและเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทด้วย เมื่อกรรมการปฏิบัติงานไปตามอำนาจหน้าที่ บริษัทก็ต้องรับผิดในการกระทำของกรรมการในฐานะตัวการ ทั้งกรรมการของบริษัทต้องมีการจดทะเบียนตามมาตรา 1157 ที่บัญญัติว่า “เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการ ให้บริษัทนำความไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง” ดังนั้นต้องถือว่ากรรมการที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเป็นกรรมการของบริษัท ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ระบุว่านายศักดิ์ชัย เป็นกรรมการของจำเลย นายศักดิ์ชัยจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการงานของจำเลย เว้นแต่การลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยเท่านั้นที่นายศักดิ์ชัยต้องลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของจำเลยตามที่ระบุไว้ในเอกสาร ส่วนที่จำเลยกำหนดให้นายศักดิ์ชัยอยู่ในงานด้าน MKT. Advisor ตามแผนผังองค์กร ก็เป็นเพียงการกำหนดตำแหน่งงานในส่วนของ MKT. โดยไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดอำนาจหน้าที่จัดการงานในส่วนอื่นในฐานะกรรมการของนายศักดิ์ชัย อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้นายศักดิ์ชัยพ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลย นายศักดิ์ชัยซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยตามที่มีการจดทะเบียนกรรมการไว้ตามมาตรา 1157 จึงเป็นผู้แทนของจำเลยในการแสดงความประสงค์ของจำเลยตามมาตรา 70 วรรคสอง และเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในการจัดการงานของจำเลยตามมาตรา 1144 จึงเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ตามความหมายของ “นายจ้าง” ใน (2) ที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล… ด้วย” อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อมาของจำเลย โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำสั่งที่ปรากฏในบันทึกการประชุมเอกสารหมาย ล. 16 เป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันมีผลบังคับใช้แก่โจทก์หรือไม่ และโจทก์อ้างว่าออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งนายจ้างได้หรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเอกสารหมาย จ. 3 ข้อ 2 การบันทึกเวลาทำงาน ข้อ 2.4 ระบุข้อยกเว้นว่า (1) พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปไม่ต้องตอกบัตรลงเวลาทำงาน จำเลยอ้างบันทึกการประชุมผู้จัดการฝ่ายซึ่งประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2551 เอกสารหมาย ล. 16 ว่านายวีระเดช กรรมการบริหารของจำเลยซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมแจ้งคำสั่งในข้อ 3 ว่าให้พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกตำแหน่งตอกบัตรลงเวลาทำงาน และนับแต่บัดนี้เป็นต้นไปให้พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกคนที่จะออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ให้ทำรายงานหรือบันทึกชี้แจงให้ฝ่ายจัดการทราบทุกครั้ง แม้โจทก์เบิกความว่าโจทก์ไม่เคยเห็นเอกสารหมาย ล. 16 และเอกสารหมาย ล. 16 ไม่มีชื่อและลายมือชื่อผู้เข้าประชุม แต่โจทก์เบิกความว่าตามเอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 โจทก์ไปประชุมไม่ได้ออกไปทำงานส่วนตัว โดยโจทก์ได้รับคำสั่งจากนายศักดิ์ชัยและไปกับนายศักดิ์ชัยทุกครั้ง สถานที่ไปเป็นบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 ว่าเป็นบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์ ซึ่งโจทก์จดบันทึกไว้ด้วยว่าวันใดที่โจทก์ “ประชุม” “ไปออฟฟิศ” “ประชุมขอนแก่น” “ประชุมโพลิเมอร์” เมื่อโจทก์ยอมรับว่า โจทก์ไปประชุมตามเอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 มีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์จดบันทึกชี้แจงให้ฝ่ายจัดการทราบถึงการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ สำหรับเอกสารหมาย ล. 6 มีการตอกบัตรลงเวลาเข้าออกงานและจดบันทึกว่า “ประชุม” นับแต่วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการทำงานหลังจากมีคำสั่งตามเอกสารหมาย ล. 12 ข้อ 3 เป็นต้นมา โดยที่วันที่ 1 ถึงวันที่ 8 มิถุนายน 2551 โจทก์ไม่ได้ตอกบัตรลงเวลาเข้าออกงานและจดบันทึกการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่มาก่อน แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับปฏิบัติตามคำสั่งในการตอกบัตรลงเวลาทำงานและจดบันทึกการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งในเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 คำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 ที่ออกโดยนายวีระเดชซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่กำหนดให้พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกตำแหน่งตอกบัตรลงเวลาทำงาน การออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ให้ทำรายงานหรือบันทึกชี้แจงให้ฝ่ายจัดการทราบทุกครั้ง อันเป็นการวางระเบียบการทำงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ใช้บังคับแก่พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกคนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะแก่คนใดคนหนึ่ง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมมีผลใช้บังคับได้ การที่โจทก์ตอกบัตรลงเวลาเข้าออกงานและจดบันทึกไว้ในบัตรตามเอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 ถึงการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งในเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 ซึ่งไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนจึงจะออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ได้ อีกทั้งนายศักดิ์ชัยเป็นนายจ้างของโจทก์ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยในเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 โดยชอบแล้ว และโจทก์ออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งของนายศักดิ์ชัยผู้เป็นนายจ้างได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 424,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 53,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เห็นว่า ในส่วนของค่าชดเชย โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมิได้ให้เหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 สำหรับดอกเบี้ยในส่วนของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม มิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีการทวงถามจำเลยเมื่อใด จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลแรงงานกลางให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าความรับผิดของจำเลยตามกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของค่าชดเชยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 ชำระดอกเบี้ยของค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 8 กันยายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง