คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ขายในต่างประเทศตกลงลดราคาขายรถยนต์พิพาทให้โจทก์ หลังจากโจทก์สั่งซื้อแล้วเพื่อเป็นการสนับสนุนการขายและเป็นการช่วยเหลือตลาดการขายให้มีผู้ซื้อมากขึ้น โดยคำนึงและหวังลดภาษีอากรขาเข้าให้ต่ำลง ทั้งคำนึงถึงการจำหน่ายเพื่อแข่งขันกับรถยนต์ยี่ห้ออื่นในตลาด ราคาที่ลดลงเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวโดยเฉพาะจึงไม่ใช่ราคารถยนต์พิพาทที่แท้จริงในท้องตลาด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าราคารถยนต์พิพาทลดลงเพราะปัจจัยอื่นตรงข้ามกลับปรากฏว่าในระหว่างพิพาทราคาขายของรถยนต์ไม่มีการลดราคา มีแต่แนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา แสดงว่าราคารถยนต์พิพาทหาได้ลดลงไม่ หากมีการลดราคาระหว่างโจทก์กับบริษัทผู้ขายในต่างประเทศก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าเฉพาะเรื่องเฉพาะราย หาใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตามความหมายของมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ไม่ จำเลยถือราคารถยนต์ตามราคาที่โจทก์เคยนำเข้าก่อนรถยนต์รายพิพาทเพียง 2 เดือนเศษและ 1 เดือนเศษตามลำดับ ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งราคาดังกล่าวเป็นราคาที่แท้จริงในท้องตลาดชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าโจทก์ได้ซื้อและนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เก๋งนั่ง 4 ประตู 5 เกียร์ แบบรุ่น บี 11 เอฟ ยู ทีเอช13 ยี่ห้อนิสสัน ซันนี่ จำนวน 80 คัน และชิ้นส่วนรถยนต์บรรทุกแชสซีนิสสันดีเซล แบบรุ่น เอ.จี 720 ทียู จำนวน 1,200 คันจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาในราชอาณาจักรในราคาคันละ 379,304 เยนและ 451,078 เยน ตามลำดับ โจทก์ทั้งสองแสดงรายการและราคาสินค้าตามราคาซื้อขายอันแท้จริงและชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลครบถ้วนแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยไม่พอใจราคาที่โจทก์สำแดงสั่งให้โจทก์วางเงินประกันใบขน โจทก์จึงนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมอบให้จำเลยไว้ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มรวมทั้งเงินเพิ่มอีก รวมเป็นเงิน 1,613,012 บาท และ 7,285,674 บาทตามลำดับ โจทก์อุทธรณ์การประเมิน จำเลยแจ้งว่าโจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย โจทก์ชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มเบี้ยปรับให้จำเลยเป็นเงิน 1,973,962.14 บาท และ 8,852,671.30 บาทตามลำดับโดยโต้แย้งสงวนสิทธิในการดำเนินคดีไว้ การประเมินของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการประเมินและคืนเงินที่ประเมินเพิ่มดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม สินค้าที่โจทก์นำเข้าโจทก์สำแดงราคาต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาดซึ่งมีราคาคันละ 475,336 เยน และ 551,810 เยนตามลำดับ การประเมินของเจ้าพนักงานชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมินโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเกี่ยวกับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ราคารถยนต์เก๋งและรถยนต์บรรทุกรายพิพาทที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้า และแบบแสดงรายการการค้าเพื่อนำเข้าสินค้าดังกล่าว เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช่หรือไม่ ได้ความจากนายสมพงษ์ พุ่มสวรรค์ พยานโจทก์ว่า ก่อนมีการนำเข้ารถพิพาททั้งรถยนต์เก๋งและรถยนต์บรรทุก โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ได้ไปเจรจาขอให้บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นลดราคาการขายให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ก่อนแล้วโจทก์ทั้งสองจึงได้มีใบสั่งซื้อรถทั้ง 2 ประเภทจากผู้ขาย ในราคาใหม่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5และ จ.39 ตามลำดับ ซึ่งบริษัทผู้ขายก็ได้ทำหนังสือยืนยันราคาส่งมาให้โจทก์ทั้งสอง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.40 ตามลำดับจากนั้นโจทก์ทั้งสองจึงได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยตามราคาที่ตกลงซื้อขายกัน ราคาสินค้าพิพาทที่โจทก์ทั้งสองนำเข้านี้ได้ความจากนายสมพงษ์ต่อไปว่า สำหรับรถยนต์เก๋งลดราคาจากเดิมราคาคันละ 475,336 เยน เป็น 374,304 เยน ส่วนรถยนต์บรรทุกลดราคาจากราคาเดิมคันละ 551,810 เยน เป็นราคาเฉพาะตัวรถไม่รวมประตูคันละ 436,810 เยน ซึ่งราคาดังกล่าว นายปรีชาพงษ์เพชร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการค้าของโจทก์ที่ 1 ที่ 2และเป็นกรรมการบริหารด้วยอ้างว่า เป็นราคาที่ซื้อขายกันแท้จริงข้อที่โจทก์อ้างว่าก่อนมีใบสั่งซื้อ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้เจรจาขอให้ฝ่ายผู้ขายลดราคาขายให้ก่อนแล้วนั้น ได้ความจากนายเอช.ซาไก ฮิโรยูกิ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนิสสันมอเตอร์ประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่ดูแลกิจการในประเทศไทยว่า เหตุที่บริษัทผู้ขายยอมลดราคาให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ก็เพราะค่าของเงินเยนสูงขึ้นราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง และค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรลดลงทำให้ต้นทุนการผลิตลดทั้งนี้เกิดจากการประชุมระหว่างโจทก์ที่ 1ที่ 2 กับบริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19 ถึง 31 มกราคม 2529 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.9 แผ่นที่ 2แสดงว่าการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อผู้ขายเพื่อลดราคา ได้มีขึ้นหลังจากที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ส่งใบสั่งซื้อตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.39ไปยังบริษัทผู้ขายแล้ว การลดราคาขายรถพิพาททั้งสองประเภท จึงหาได้มีการลดราคาก่อนที่จะมีการตกลงซื้อขายดังนายสมพงษ์พยานโจทก์เบิกความไม่ หากมีก็น่าจะเป็นการตกลงกันหลังโจทก์ที่ 1 ที่ 2สั่งซื้อแล้วมากกว่า ราคาที่บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นขายให้ แม้หากจะมีการลดราคากันจริง ก็น่าจะเป็นเรื่องของการลดราคาให้เฉพาะเรื่องเฉพาะรายมากกว่าดังที่ นายเอช. ซาไก ฮิโรยูกิ เบิกความว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการขายและเพื่อเป็นการช่วยเหลือตลาดการขายให้มีผู้ซื้อมากขึ้นโดยคำนึงและหวังลดภาษีอากรขาเข้าให้ต่ำลง ทั้งคำนึงถึงการจำหน่ายเพื่อแข่งขันกับรถยี่ห้ออื่นในตลาดประเทศไทยด้วย แสดงว่าราคาสินค้าที่โจทก์ทั้งสองนำเข้าซึ่งรถพิพาทโดยอ้างว่า บริษัทผู้ขายในประเทศญี่ปุ่นลดราคาให้นั้นเป็นการแสดงราคาที่ลดลงเพื่อจะได้เสียภาษีให้น้อยลงกว่าที่เคยเสีย อันจะเป็นผลถึงราคาจำหน่ายรถพิพาทภายในประเทศไทย ดังนั้น ราคาที่ลดแม้หากเป็นจริงก็เพียงแสดงราคาเพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวโดยเฉพาะ ราคาที่ลดลงดังกล่าวจึงหาใช่ราคารถพิพาทที่แท้จริงในท้องตลาดไม่ หาใช่เป็นการลดราคาเพราะเงินเยนแข็งตัวไม่ เพราะปรากฏตามบันทึกรายงานผู้อำนวยการกองพิธีการและประเมินอากรของนายสมเกียรติ พิสุทธิ์เจริญพงศ์ เจ้าหน้าที่ประเมินอากร 5 ว่า ราคารถยนต์เก๋งพิพาทลดลง 21.25 เปอร์เซ็นต์ส่วนค่าของเงินเยนขณะนำสินค้าเข้าสูงขึ้นเพียง 15.01 เปอร์เซ็นต์และราคารถยนต์บรรทุกลดลง 20.84 เปอร์เซ็นต์ ส่วนค่าของเงินเยนขณะนำสินค้าเข้าสูงขึ้นเพียง 13.48 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงว่าราคารถที่ลดกับค่าของเงินเยนที่แข็งตัวมีอัตราส่วนแตกต่างกันมาก และที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าราคารถลดลงก็เพราะมาจากเหตุน้ำมันในตลาดโลกราคาลดลง และต้นทุนการผลิตลดลงเพราะเครื่องจักรใช้งานมานานแล้วแต่โจทก์ก็นำสืบเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากหลักฐานอ้างอิงทั้งยังได้ความจากนายวุฒิชัย พงษ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองพิธีการและประเมินอากร พยานจำเลยว่า ที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงนั้น ไม่มีข้อมูลว่าในขณะนั้นได้ลดลงแต่อย่างใดและไม่ปรากฏว่ามีผลต่อต้นทุนการผลิตแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับปรากฏว่าในระหว่างพิพาทราคาขายของรถยนต์ไม่มีการลดราคา คงมีแต่แนวโน้มที่จะมีราคาสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเช่นนี้จึงเชื่อได้ว่าราคารถพิพาททั้งสองประเภทหาได้ลดลงดังโจทก์ทั้งสองอ้างแต่ประการใดไม่ หากจะมีการลดราคาระหว่างโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อกับบริษัทผู้ขายในประเทศญี่ปุ่นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการค้าเฉพาะเรื่องเฉพาะราย หาใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตามความหมายของมาตรา 2แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่ ดังนั้นที่จำเลยถือราคารถยนต์เก๋งและรถยนต์บรรทุกพิพาทตามราคาที่โจทก์ทั้งสองเคยนำเข้าก่อนรายพิพาทเพียง 2 เดือนเศษ และ 1 เดือนเศษ ตามลำดับ ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้โต้แย้งราคาที่นำเข้าดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นราคาที่แท้จริงในท้องตลาดราคารถยนต์เก๋งและรถยนต์บรรทุกที่จำเลยทำการประเมินจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 แล้วที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share