แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 ลักษณะของผู้ประพฤติตนเป็นบุคคลอันธพาล หาได้จำกัดแต่เพียงกรณีที่เป็นบุคคลดำรงชีพอยู่ด้วยการกระทำผิดกฎหมายอันเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของชาติเท่านั้นไม่ แต่บุคคลที่ประพฤติตนเช่นที่อธิบายไว้ตอนต้นของประกาศดังกล่าว ซึ่งนับว่าเป็นภยันตรายแก่ความสงบสุขของประชาชนพลเมืองโดยทั่วไป ก็ถือว่าเป็นบุคคลอันธพาล อยู่ในข่ายที่จะถูกดำเนินการตามประกาศนี้ได้
ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 เป็นกฎหมายที่มุ่งหมายให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาที่มีการประพฤติตนเป็นคนอันธพาลได้เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 แต่การที่จะควบคุมบุคคลใดตามประกาศนี้ได้นั้น บุคคลผู้ประพฤติตนเป็นอันธพาลนั้นต้องกระทำการซึ่งเป็นการละเมิดต่อกฎหมายขึ้น และมีความจำเป็นต้องควบคุมไว้เพื่อสอบสวน กรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับมาในข้อหาว่ากระทำผิดฐานลักทรัพย์และเป็นซ่องโจร และตามทางสืบสวนสอบสวนปรากฏว่าผู้ต้องหานี้เป็นบุคคลอันธพาลด้วย พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจที่จะควบคุมไว้ทำการสอบสวนได้ไม่เกิน 30 วัน ตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ข้อ 1 ให้อำนาจไว้ เมื่อการกระทำและคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ควบคุมผู้ต้องหานี้เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
ผู้ต้องหาถูกจับมาในข้อหาว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์และเป็นซ่องโจรแม้ผู้ต้องหาได้รับสารภาพว่าได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์รวม 10 รายแล้ว เมื่อยังอยู่ในระยะเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันจับกุม พนักงานสอบสวนก็ยังมีอำนาจควบคุมต่อมาเพื่อสอบสวนในความผิดรายที่รับสารภาพแล้วและรายอื่นๆ ซึ่งรวมแล้วได้ความว่ามีไม่น้อยกว่า 12รายได้ เพราะแม้จะให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนก็ยังจะต้องสอบสวนพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ความชัดแจ้งว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามที่รับสารภาพหรือไม่ เพราะผู้ต้องหาอาจมาปฏิเสธในชั้นศาลได้
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องและต่อมานายเรืองหรือเหลืองขอเข้าเป็นผู้ร้องร่วมว่าในขณะยื่นคำร้อง นายพรอนันต์ นายมูล และนายเรืองหรือเหลือง กำลังถูกควบคุมอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลบุบผาราม จังหวัดธนบุรี ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2513 ตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของพันตำรวจตรีแสวง จิรานุวัตร์ และ ร้อยตำรวจโทปัญญา ยิ้มเจริญพนักงานสอบสวน โดยบุคคลทั้งสามถูกพนักงานตำรวจจับกุมในขณะที่ถูกจับกุมบุคคลทั้งสามมิได้ทำการต่อสู้ขัดขวาง และร้อยตำรวจโทปัญญาพนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานเป็นซ่องโจร ซึ่งบุคคลทั้งสามให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาแล้วนับตั้งแต่วันที่ถูกควบคุมตัวเป็นต้นมาเกิน 7 วัน ตามกำหนดที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ให้อำนาจพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมได้แล้ว โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้ขอให้ศาลออกหมายขังตามวรรค 4 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ทั้งพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาของบุคคลทั้งสามยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นภยันตรายแก่ความสงบสุขของประชาชนพลเมืองทั่วไป พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจที่จะควบคุมบุคคลทั้งสามไว้ก่อน 30 วัน ในฐานะเป็นบุคคลอันธพาลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 จึงขอให้หมายเรียกพันตำรวจตรีแสวง จิรานุวัตร์ และร้อยตำรวจโทปัญญา ยิ้มเจริญและออกหมายสั่งให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสามมาศาล ทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสามให้พ้นจากการควบคุมที่ผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
พันตำรวจตรีแสวงพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องคัดค้านว่า การควบคุมตัวบุคคลทั้งสามเป็นการกระทำและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะบุคคลทั้งสามประพฤติตนเป็นอันธพาล และยอมรับว่าได้ทำการลักทรัพย์ในท้องที่ต่าง ๆ มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 ราย จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลอันธพาลตามคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจที่จะควบคุมไว้ได้โดยชอบ
ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ศาลชั้นต้นสอบถามผู้ร้อง พนักงานสอบสวนและผู้ต้องควบคุมทั้งสามคนแล้วได้ความว่า ผู้ต้องหาทั้งสามถูกจับมีข้อหากระทำผิดฐานลักทรัพย์และเป็นซ่องโจร แล้วถูกพนักงานสอบสวนสั่งควบคุมในข้อหาเป็นบุคคลอันธพาลมีกำหนด 30 วัน โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 บัดนี้ยังอยู่ในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันจับกุม คือ วันที่ 14 ธันวาคม 2513 ผู้ต้องหาทั้งสามได้รับสารภาพตามข้อหารวมทั้งหมด 10 รายแล้วศาลชั้นต้นจึงให้งดการไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนได้รายงานเสนอความเห็นขอควบคุมผู้ต้องหาทั้งสามในฐานะเป็นบุคคลอันธพาลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 มีกำหนด 30 วันนับแต่วันจับกุม ต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนสั่งอนุมัติให้ควบคุมได้ ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มิได้บัญญัติให้ร้องขอปล่อยโดยโต้แย้งว่ามิใช่เป็นบุคคลอันธพาล ผู้ร้องจึงไม่อาจยกข้อเท็จจริงว่ามิใช่เป็นบุคคลอันธพาลมาขอให้ศาลสั่งปล่อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เมื่อเป็นการสั่งโดยอาศัยอำนาจกฎหมายพิเศษ จึงไม่ใช่บทกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบังคับ การที่ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตามข้อหาหาได้หมายความว่าการสอบสวนเสร็จสิ้นไม่ พนักงานสอบสวนย่อมควบคุมผู้ต้องหาไว้ตามคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวได้ การควบคุมผู้ต้องหาทั้งสามจึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่จะสั่งปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90
ผู้ร้องและผู้ร้องร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องและผู้ร้องร่วมฎีกา ตั้งประเด็นโต้แย้งสรุปได้ 3 ประการ คือ
1. ที่จะมีพฤติการณ์เป็นบุคคลอันธพาลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 นั้น จะต้องเป็นการดำรงชีพอยู่ด้วยการกระทำผิดต่อกฎหมายอันเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของชาติข้อเท็จจริงในคดีนี้ยังไม่ปรากฏว่าผู้ร้องกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจรและดำรงชีพอยู่ด้วยการกระทำผิดกฎหมาย
2. บุคคลที่ถูกควบคุมตัวฐานเป็นบุคคลอันธพาลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ถือได้ว่าได้มีการโต้แย้งสิทธิแล้ว จึงมีสิทธิโต้แย้งโดยเสนอคดีให้ศาลวินิจฉัยเพื่อให้มีคำสั่งปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ได้ ทั้งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ก็หาได้จำกัดสิทธิเอาไว้ไม่
3. การควบคุมไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ต้องเป็นการควบคุมเอาไว้เพื่อทำการสอบสวน การควบคุมตัวผู้ร้องเอาไว้เพื่อรอเจ้าทุกข์ให้มาร้องทุกข์แล้วจึงจะดำเนินการสอบสวนในข้อหาใหม่ต่อไป ไม่มีกฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวนกระทำเช่นนั้นได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นปัญหาฎีกาข้อ 1 เห็นว่า ข้อความที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 นั้น ลักษณะของผู้ประพฤติตนเป็นบุคคลอันธพาลหาได้จำกัดเพียงกรณีที่เป็นบุคคลดำรงชีพอยู่ด้วยการกระทำผิดกฎหมายอันเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของชาติดังที่ผู้ร้องฎีกามาเท่านั้นไม่ แต่บุคคลที่ประพฤติตนเช่นที่อธิบายไว้ในตอนต้นของประกาศซึ่งนับว่าเป็นภยันตรายแก่ความสงบสุขของประชาชนพลเมืองโดยทั่วไป ก็ถือว่าเป็นบุคคลอันธพาลอยู่ในข่ายที่จะถูกดำเนินการตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ได้ สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ได้ความนอกจากผู้ต้องหาทั้งสามถูกจับตัวด้วยข้อหาว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์และเป็นซ่องโจรและผู้ต้องหาทั้งสามรับสารภาพว่า ได้กระทำการลักทรัพย์ 10 รายแล้ว ยังได้ความจากเอกสารหลักฐาน บันทึกขออนุมัติควบคุมบุคคลอันธพาลของพนักงานสอบสวนที่ศาลเรียกมาประกอบการพิจารณาด้วยว่า “จากการสืบสวนความประพฤติและพฤติการณ์การกระทำของผู้ต้องหาทั้งสามคนนี้ ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งสามไม่ได้ประกอบอาชีพในทางสุจริตเป็นหลักแหล่ง สมคบกันคอยหาโอกาสกระทำการลักรถจักรยานยนต์ของผู้ที่นำมาจอดไว้แถวหน้าตลาดวงเวียนใหญ่ หน้าโรงภาพยนต์สุริยา และแถวหน้าตลาดเสสะเวชอยู่ประจำ ก่อความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้ที่มากิจธุระในย่านดังกล่าวอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นยังทำตนเป็นนักเลงเบ่งรีดไถเงินตามร้านค้าแถววงเวียนใหญ่อยู่เสมอ ๆ แต่ไม่มีผู้ใดนำความมาแจ้งกับเจ้าพนักงานตำรวจเพราะกลัวอิทธิพลของผู้ต้องหานี้จะทำร้ายเอานับว่าเป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง” ลักษณะการกระทำ ความประพฤติและพฤติการณ์ของผู้ถูกควบคุมในคดีนี้อย่างที่ได้ความมาดังกล่าว เห็นได้ว่าผู้ถูกควบคุมทั้งสามเป็นบุคคลที่ประพฤติตนอยู่ในข่ายเป็นบุคคลอันธพาลตามความหมายของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ที่กล่าวมาได้แล้ว
ปัญหาตามฎีกาข้อ 2 เห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21เป็นกฎหมายที่มุ่งหมายให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาที่มีการประพฤติตนเป็นคนอันธพาลได้เป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 แต่การที่พนักงานสอบสวนจะควบคุมบุคคลใดตามประกาศฉบับนี้ได้นั้นตามประกาศฉบับนี้ข้อ 1 จะเห็นได้ว่า บุคคลผู้ประพฤติตนเป็นอันธพาลนั้น ต้องกระทำการซึ่งเป็นการละเมิดต่อกฎหมายขึ้นและมีความจำเป็นต้องควบคุมไว้เพื่อทำการสอบสวน เมื่อผู้ถูกควบคุมทั้งสามคนในกรณีนี้ถูกจับมาในข้อหาว่ากระทำผิดลักทรัพย์และเป็นซ่องโจร และตามทางสืบสวนของพนักงานสอบสวนปรากฏว่า ผู้ต้องหาทั้งสามนี้เป็นบุคคลอันธพาล พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจที่จะควบคุมผู้ต้องหาทั้งสามนี้ไว้ทำการสอบสวนได้ไม่เกินสามสิบวัน ตามที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 ข้อ 1 ให้อำนาจไว้คำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ควบคุมบุคคลทั้งสามจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การขอให้ปล่อยตัวให้พ้นจากการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เป็นเรื่องการควบคุมที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นแม้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวฐานเป็นบุคคลอันธพาลตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้จะมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ได้ เมื่อการกระทำและคำสั่งของพนักงานสอบสวนที่ให้ควบคุมผู้ต้องหาทั้งสามในกรณีนี้เป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้วกรณีก็ไม่เป็นเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยตามที่ผู้ร้องร้องขอได้
ส่วนในปัญหาข้อ 3 เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความพอแปลได้ว่าการที่พนักงานสอบสวนได้ควบคุมผู้ต้องหาต่อมา ก็เพื่อสอบสวนในความผิดตามข้อหาเดิม และรายอื่น ๆ ที่ยังมีอยู่อีกซึ่งได้ความว่า มีไม่น้อยกว่า 12 ราย เพราะแม้ผู้ต้องหาจะให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนก็ยังจะต้องสอบสวนพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ความชัดแจ้งว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามที่รับสารภาพนั้นหรือไม่ เพราะผู้ต้องหาอาจมาปฏิเสธในชั้นศาลได้ อนึ่ง เมื่อได้ความว่าในขณะที่ผู้ร้องและผู้ร้องร่วมยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยยังอยู่ในระยะเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันจับกุม พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจจะควบคุมไว้ได้โดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ข้อ 1 ดังกล่าวแล้วศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องและผู้ร้องร่วมจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน