คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7685/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่คู่ความร่วมคนหนึ่งขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคู่ความร่วมคนนั้น ไม่มีผลไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วย กรณีมิใช่เรื่องที่จะนำมาตรา 59 (1) แห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับได้การที่โจทก์ที่ 1 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนั้นที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันภายในระยะเวลาดังกล่าวโดยโจทก์ที่ 2 มิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 2 ด้วย เป็นการไม่ชอบและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน ต้องถือว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 2 จำนวน 2 แปลง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใด อันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2498 นางเคน ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 35 ตำบลบัวลาย อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.8 ซึ่งเดิมอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลบัวลาย อำเภอบัวใหญ่ ต่อมาเปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 4 ตำบลบัวลาย กิ่งอำเภอบัวลาย ปี 2523 นางเคนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ปี 2541 โจทก์ทั้งสองไปขอออกโฉนดที่ดินแบ่งออกเป็น 2 แปลง ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านการออกโฉนดที่ดินของโจทก์ทั้งสองบางส่วนอ้างว่า ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านคึมม่วง มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า โจทก์ทั้งสองเป็นโจทก์ร่วมกันมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ถือว่าโจทก์ที่ 1 ยื่นคำขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แทนโจทก์ที่ 2 ด้วย รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 2 ซึ่งปัญหาข้อนี้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247 เห็นว่า การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล เป็นสิทธิของคู่ความแต่ละคนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน การขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์อันเป็นกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งเมื่อได้กระทำโดยคู่ความร่วมคนหนึ่งย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคู่ความร่วมคนนั้นไม่มีผลไปถึงคู่ความร่วมคนอื่นที่มิได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ด้วย กรณีมิใช่เรื่องที่จะนำมาตรา 59 (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับได้ การที่โจทก์ที่ 1 ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เพียงคนเดียว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แก่โจทก์ที่ 1 จึงเป็นประโยชน์แก่โจทก์ที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย ดังนั้น ที่โจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ฉบับเดียวกันภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยโจทก์ที่ 2 มิได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ ย่อมเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 2 ด้วย เป็นการไม่ชอบและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกันต้องถือว่าคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 2 คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ว่า ที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงตามแผนที่วิวาทเป็นที่ดินโจทก์ที่ 1 หรือไม่ โดยโจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์นั้น เห็นว่า โจทก์ที่ 1 และจำเลยต่างอ้างนายสุวัฒน์ซึ่งขณะนั้นรับราชการในตำแหน่งนายช่างรังวัด 4 สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เป็นพยานสนับสนุนข้ออ้างและข้อเถียงของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง นายสุวัฒน์จึงเป็นพยานร่วมมีน้ำหนักให้รับฟัง โดยได้ความจากคำเบิกความของนายสุวัฒน์ว่า นายสุวัฒน์เป็นผู้รังวัดสอบสวนสิทธิที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์ทั้งสองนำรังวัดและชี้แนวเขตทุกด้านมีหลักฐานตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย จ.8 เพื่อขอออกโฉนดที่ดินรวม 2 แปลง ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.9 แม้นายสุวัฒน์เบิกความตอบคำถามของทนายโจทก์ที่ 1 ว่า ที่ดินที่โจทก์ที่ 1 นำรังวัดและชี้แนวเขตนั้นไม่ได้เป็นที่สงวนหรือหวงห้ามทั้งเจ้าของที่ดินข้างเคียงและผู้ปกครองท้องที่ได้กันเขตและรับรองแนวเขตถูกต้อง แต่นายสุวัฒน์เบิกความตอบทนายจำเลยว่า หลังจากนายสุวัฒน์รังวัดและขึ้นรูปแผนที่ของที่ดินเสร็จแล้ว นายสุวัฒน์เพียงนำรูปแผนที่ของที่ดินไปตรวจสอบกับระวางภาพถ่ายทางอากาศ โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบของกรมที่ดินว่าต้องนำรูปแผนที่ของที่ดินไปทาบกับระวางภาพถ่ายทางอากาศก่อน เพื่อให้ทราบว่ามีการทับซ้อนกับที่ดินแปลงอื่นหรือไม่ แสดงว่าเหตุที่นายสุวัฒน์เบิกความตอบคำถามของทนายโจทก์ที่ 1 ไปเช่นนั้น เพราะนายสุวัฒน์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของกรมที่ดินดังกล่าว แต่นายสุวัฒน์เบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยว่าหลังจากมีการคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินแปลงพิพาทแล้ว นายสุวัฒน์นำรูปแผนที่ของที่ดินแปลงพิพาทไปทาบกับระวางภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าที่ดินแปลงพิพาททับซ้อนกับที่ดินสาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านคึมม่วง ตามที่ปรากฏอยู่ในระวางภาพถ่ายทางอากาศเอกสารหมาย จ.6 นอกจากนี้นายสุวัฒน์ยังเบิกความตอบคำถามของทนายจำเลยด้วยว่า ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.9 ที่ระบุว่าแนวเขตด้านทิศใต้จดที่ทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์นั้น หากดูจากแผนที่ดังกล่าวที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินสาธารณประโยชน์บ้านคึมม่วง เนื่องจากไม่มีที่ดินของบุคคลอื่นอีก ส่วนแนวเขตด้านทิศเหนือที่ระบุว่าจดที่ดินสาธารณประโยชน์นั้น ที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าว หากดูจากแผนที่เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินสาธารณประโยชน์บ้านคึมม่วง ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่าที่ดินพิพาทภายในเส้นสีแดงในแผนที่วิวาทหรือที่ดินภายในเส้นสีเขียวในรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.38 รุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านคึมม่วง คำเบิกความของนายสุวัฒน์ย่อมสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นของจำเลยมากกว่าพยานหลักฐานอื่นของพยานโจทก์ที่ 1 ประกอบกับปัญหาข้อเท็จจริงนี้ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดชอบด้วยเหตุผลแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านคึมม่วง หาใช่เป็นที่ดินโจทก์ที่ 1 ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 35 แต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และยกฎีกาของโจทก์ที่ 2 เนื่องจากโจทก์ที่ 2 ยื่นฎีการวมกันมากับโจทก์ที่ 1 โดยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีการ่วมกัน จึงไม่มีค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จะสั่งคืนให้ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share