คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 762/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในที่ทำการของสมาคมเป็นเพราะมีเหตุจำเป็นเนื่องจากคณะกรรมการสมาคมชุดอื่นเป็นฝ่ายครอบครองอาคารที่ทำการของสมาคมอยู่ หากเข้าไปจัดในสถานที่นั้นอาจมีเรื่องวิวาทบาดหมางเกิดขึ้นได้ ห้องประชุมของสมาคมก็เล็กไม่เหมาะสำหรับใช้เป็นที่ประชุมใหญ่ซึ่งมีจำนวนสมาชิกมาก ทั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติก็แจ้งว่า สถานที่ใดซึ่งสมาคมเช่าไว้ก็ใช้เป็นสถานที่สำหรับทำการเลือกตั้งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ตั้งของสมาคมเสมอไปเห็นได้ว่าข้อบังคับของสมาคมในข้อนี้ไม่ใช่เป็นข้อบังคับอันเด็ดขาด หากมีความจำเป็นหรือเพื่อความเหมาะสมก็อาจใช้สถานที่อื่นเป็นที่ทำการเลือกตั้งได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์และสมาชิกอื่นได้รับความเสียหาย จึงยังถือไม่ได้ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบเพราะเหตุที่ไม่ได้จัดให้มีขึ้นในที่ทำการของสมาคม
ตามระเบียบของสมาคมระบุให้การออกหนังสือแจ้งวันนัดประชุมใหญ่แก่สมาชิกเป็นหน้าที่ของกรรมการและเลขานุการ แต่เลขานุการติดธุระ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอุปนายกของสมาคมจึงทำการแทน และจำเลยที่ 1 ลงนามในหนังสือดังกล่าวในฐานะรักษาการแทนเลขานุการสมาคม จึงถือได้ว่าการออกหนังสือดังกล่าวเป็นการออกโดยเลขานุการของสมาคมตามข้อบังคับของสมาคม การเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของสมาคมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สมาคมฮากกาอุบลราชธานีเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๑๓ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญ เพื่อลงมติออกเสียงเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมประจำปี ๒๕๒๓ ขึ้น ณ สถานอาบ อบ นวด แห่งหนึ่ง มีคณะกรรมการได้รับเลือกตั้ง ๒๑ นาย การประชุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจและฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคมกล่าวคือ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ผู้เรียกประชุมไม่ได้เป็นเลขานุการประจำปี ๒๕๒๒ หนังสือเรียกประชุมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสมาคมและจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นที่สถานอาบ อบ นวดซึ่งไม่ใช่ที่ทำการของสมาคมการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นการไม่ชอบขอให้ศาลพิพากษาว่า มติการประชุมเลือกตั้งกรรมการบริหารสมาคมฮากกาอุบลราชธานีประจำปี ๒๕๒๓ เป็นโมฆะ ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นนายกกับพวกเสีย
จำเลยทั้งสิบสองคนให้การว่า จำเลยที่ ๑ ในฐานะเลขานุการสมาคมฮากกาอุบลราชธานี ประจำปี ๒๕๒๑ ได้ปฏิบัติการไปตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมสมาคมและนายทะเบียนสมาคม จำเลยได้ปฏิบัติการไปโดยชอบด้วยข้อบังคับและกฎหมายทุกประการ เจ้าหน้าที่จึงได้รับจดทะเบียนให้จำเลยที่ ๑ กับพวกเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมปี ๒๕๒๓ โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นนายกกับพวก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในประเด็นที่ว่ามติการประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมฮากกาอุบลประจำปี ๒๕๒๓ ซึ่งมีจำเลยที่ ๑ เป็นนายกได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยข้อบังคับหรือไม่ ตามฎีกาของโจทก์อ้างเหตุมา ๓ ประการคือ (๑) การเลือกตั้งไม่ได้จัดขึ้น ณ ที่ทำการของสมาคม เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับของสมาคม ข้อ ๙ (๓)(๒) แบบฟอร์มการเลือกตั้งมีรายชื่อสมาชิกไม่ครบ และ (๓) การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอุปนายกในคณะกรรมการสมาคมชุดปี ๒๕๒๑ เป็นผู้ออกหนังสือแจ้งวันนัดประชุมแก่สมาชิกไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของสมาคมซึ่งกำหนดให้เป็นหน้าที่ของเลขานุการ
ในปัญหาข้อแรกศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ ๑ กับพวกไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นในที่ทำการของสมาคมนั้น เป็นเพราะมีเหตุจำเป็นเนื่องจากคณะกรรมการสมาคมชุดนายคิงเปี้ยงเป็นฝ่ายครอบครองอาคารที่ทำการของสมาคมอยู่ หากเข้าไปจัดในสถานที่นั้นอาจมีเรื่องวิวาทบาดหมางเกิดขึ้นได้ ทั้งปรากฏว่าห้องประชุมของสมาคมจุคนได้ประมาณ ๒๐ กว่าคนเท่านั้น จึงไม่เหมาะสำหรับที่จะใช้เป็นที่ประชุมใหญ่เพราะมีสมาชิกเป็นจำนวนมากถึง ๒๐๐ กว่าคน และก่อนที่จะมีการประชุมจำเลยที่ ๑ ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งมาสังเกตการณ์แล้ว เจ้าหน้าที่ดังกล่าวก็บอกว่าสถานที่ใดเป็นสถานที่ซึ่งสมาคมเช่าไว้ก็ใช้เป็นสถานที่สำหรับทำการเลือกตั้งได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นที่ตั้งของสมาคมเสมอไป ตามเหตุผลดังกล่าวมานี้จึงเห็นได้ว่าข้อบังคับของสมาคมในข้อนี้ไม่ใช่เป็นข้อบังคับอันเด็ดขาด หากมีความจำเป็นหรือเพื่อความเหมาะสมก็อาจใช้สถานที่อื่นเป็นที่ทำการเลือกตั้งได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามและสมาชิกอื่น ๆ ได้รับความเสียหายเพราะเหตุนี้แต่อย่างใด ดังนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าการเลือกตั้งไม่ชอบเพราะเหตุที่ไม่ได้จัดให้มีขึ้นในที่ทำการของสมาคมดังโจทก์กล่าวอ้าง
ในปัญหาข้อ ๒ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ยังฟังไม่ได้ว่าบัตรเลือกตั้งขาดชื่อสมาชิกไป ส่วนในปัญหาข้อ ๓ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ตามระเบียบของสมาคมข้อ ๙ (๑) ระบุว่าการออกหนังสือแจ้งวันนัดประชุมใหญ่แก่สมาชิกเป็นหน้าที่ของกรรมการเลขานุการ แต่ในการออกหนังสือแจ้งวันนัดประชุมใหญ่ครั้งพิพาท จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นอุปนายกของสมาคมในปี ๒๕๒๑ เป็นผู้ออกดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑ ในปัญหาข้อนี้จำเลยที่ ๑ เบิกความว่า เหตุที่จำเลยที่ ๑เป็นผู้ออกหนังสือดังกล่าวเพราะเลขานุการติดธุระ จำเลยที่ ๑ จึงทำการแทน และปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑ ว่า จำเลยที่ ๑ ลงนามในหนังสือดังกล่าวในฐานะรักษาการแทนเลขานุการสมาคม ดังนี้จึงถือได้ว่าการออกหนังสือดังกล่าวเป็นการออกโดยเลขานุการของสมาคมตามข้อบังคับนั่นเองตามพยานหลักฐานและเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาตามลำดับ จึงฟังได้ว่าการเลือกตั้งคณะกรรมการสมาคมฮากกาอุบล ประจำปี ๒๕๒๓ ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นนายกนั้นได้ดำเนินการไปโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของสมาคมแล้ว ไม่มีเหตุจะเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการสมาคมดังฟ้องโจทก์ทั้งสามแต่อย่างใด
พิพากษายืน

Share