แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง เป็นเพียงบทบัญญัติสันนิษฐานเด็ดขาดว่า หากมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น มิได้หมายความว่า หากยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้น้อยกว่านั้นแล้ว จะลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ได้ เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้จะคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์น้อยกว่า 20 กรัม ก็ตาม ย่อมลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้
แม้ข้อนำสืบของจำเลยจะไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษก็ตาม แต่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและศาลล่างทั้งสองก็ยกเอาคำให้การดังกล่าวของจำเลยขึ้นมาฟังประกอบการวินิจฉัยด้วย ดังนี้ ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นการให้ความรู้แก่ศาล อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว สมควรลดโทษให้แก่จำเลย ถึงแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหาข้อนี้ขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและลดโทษให้แก่จำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคแรก, 66 วรรคแรก จำคุก 9 ปีริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการวิเคราะห์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและนายประศาด เผ่าวิจารณ์ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 180 เม็ด รถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก – 8726 กรุงเทพมหานคร และทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นของกลาง ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.10 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนที่จำเลยฎีกา ตามรายงานการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย จ.8เมทแอมเฟตามีนของกลาง 180 เม็ด น้ำหนักรวม 14.260 กรัม มิได้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง เป็นเพียงบทบัญญัติสันนิษฐานเด็ดขาดว่า หากมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไปให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น มิได้หมายความว่า หากยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้น้อยกว่านั้นแล้ว จะลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ได้ เมื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และตามผลการตรวจวิเคราะห์ในรายงานการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย จ.8 ตรวจพบเมทแอมเฟตามีนในของกลาง 180 เม็ด และตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวได้คดีนี้แม้ข้อนำสืบของจำเลยจะไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษก็ตาม แต่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนและศาลล่างทั้งสองก็ยกเอาคำให้การดังกล่าวของจำเลยขึ้นมารับฟังประกอบการวินิจฉัยด้วยดังนี้ถือได้ว่าคำให้การของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว สมควรลดโทษให้แก่จำเลย ถึงแม้จำเลยจะมิได้ฎีกาปัญหาข้อนี้ขึ้นมาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและลดโทษให้แก่จำเลยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3