แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
วันเกิดเหตุผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องเดินมาพูดกับ ธ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาว่า มาเสือกอะไรกับแผนกเช็คเกอร์ แล้วผู้คัดค้านได้กระชากคอเสื้อ ธ. ถึง 2 ครั้ง จับแขนขวาของ ธ. เพื่อจะฉุดเข้าในห้องประชุมต่อหน้าพนักงานอื่นหลายคนระหว่างที่อยู่ในเวลาทำงาน การกระทำดังกล่าวเป็นการพูดจาก้าวร้าวและทำร้ายผู้บังคับบัญชาต่อหน้าพนักงานอื่นของผู้ร้องภายในสถานที่ทำงานและในเวลาทำงาน ทำให้เสียภาพลักษณ์และการปกครองบังคับบัญชาในองค์กรของผู้ร้องเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรง แม้ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องสหภาพแรงงาน ส. ได้ยื่นข้อเรียกร้องซึ่งอยู่ในระหว่างการเจรจาและผู้คัดค้านเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ส. ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาก็ตาม แต่การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 31(3) กรณีจึงมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามมาตรา 52
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด และมอบอำนาจให้นายกิตติคม ดิษาภิรมย์ หรือนายเกษม ศรีชัยรมย์รัตน์ดำเนินคดีนี้แทนผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2543 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ขณะอยู่ในระหว่างเวลาทำงาน ผู้คัดค้านได้ทำร้ายนายธานี สุวรรณกนกนาค ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยมีลักษณะเป็นอันธพาลก้าวร้าว ไม่ให้เกียรติไม่เคารพยำเกรงและประพฤติตนไม่เหมาะสมต่อผู้บังคับบัญชา ทั้งเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาต่อพนักงานอื่นในระหว่างเวลาทำงาน ทำให้ผู้ร้องเสียหายด้านการปกครองและการบังคับบัญชาอันเป็นการจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องอย่างร้ายแรงขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างนับแต่วันยื่นคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง กรรมการสวัสดิการและกรรมการสหภาพแรงงานเสริมสุขของบริษัทผู้ร้อง ขณะผู้ร้องขอเลิกจ้างผู้คัดค้านอยู่ในระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมสภาพการจ้างที่สหภาพแรงงานเสริมสุขยื่นต่อผู้ร้องโดยผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานในการเจรจา และต่อมาสหภาพแรงงานเสริมสุขกับผู้ร้องสามารถตกลงกันได้โดยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน2543 ผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตปกป้องผลประโยชน์ของผู้ร้องและของส่วนร่วม ไม่เคยทะเลาะวิวาทกับผู้ใด และไม่เคยกระทำความผิดตามที่ผู้ร้องกล่าวหา จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะขอเลิกจ้างผู้คัดค้านตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 และมาตรา 123 ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด ผู้คัดค้านเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของผู้ร้องเมื่อวันที่ 2เมษายน 2523 ตำแหน่งพนักงานเช็คเกอร์ ประจำโรงงานนครราชสีมามีนายธานี สุวรรณกนกนาค เป็นหัวหน้าแผนกเช็คเกอร์ – ธุรการ และเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านเป็นกรรมการสหภาพแรงงานเสริมสุขและเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2543 เวลาประมาณ16 นาฬิกา ผู้คัดค้านเดินมาพูดกับนายธานีว่า มาเสือกอะไรกับแผนกเช็คเกอร์หลังจากนั้นผู้คัดค้านได้กระชากคอเสื้อนายธานีจนทำให้นายธานีตกจากบาทวิถีหน้าประตูห้องแผนกเช็คเกอร์ – ธุรการ ลงไปที่พื้นถนนคอนกรีตจากนั้นได้กระชากคอเสื้อพร้อมกับจับแขนขวาของนายธานีพยายามฉุดนายธานีให้เข้าไปในห้องประชุมโดยนายธานีไม่ยินยอม การกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการพูดถ้อยคำไม่สุภาพ แสดงความก้าวร้าว ไม่เคารพไม่ให้เกียรติ และเป็นการทำร้ายผู้บังคับบัญชาก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องและกระทบต่อการบังคับบัญชา ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง แม้ขณะยื่นคำร้องจะอยู่ในระหว่างที่ผู้คัดค้านในฐานะตัวแทนสหภาพแรงงานเสริมสุขกำลังเจรจาเกี่ยวกับการขอแก้ไขเพิ่มเติมและต่ออายุข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแต่เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรให้ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31(3)จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ คำขออื่นให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเพียงประการเดียวว่า การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงและมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31(3) ประกอบมาตรา 52 หรือไม่ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า วันเกิดเหตุผู้คัดค้านเดินมาพูดกับนายธานีซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาว่า มาเสือกอะไรกับแผนกเช็คเกอร์แล้วผู้คัดค้านได้กระชากคอเสื้อนายธานีถึง 2 ครั้ง และจับแขนขวาของนายธานี เพื่อที่จะฉุดเข้าในห้องประชุมต่อหน้าพนักงานอื่นหลายคนระหว่างที่อยู่ในเวลาทำงาน เห็นว่าการกระทำของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นการพูดจาที่ก้าวร้าว และทำร้ายผู้บังคับบัญชาต่อหน้าพนักงานอื่นของผู้ร้องภายในสถานที่ทำงานและในเวลาทำงาน ทำให้เสียหายต่อภาพลักษณ์และการปกครองบังคับบัญชาในองค์กรของผู้ร้อง จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องหมวดที่ 11 ว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยข้อ 11.3(1) และ (11) ในกรณีร้ายแรง แม้ขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง สหภาพแรงงานเสริมสุขได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาและผู้คัดค้านเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเสริมสุขที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาก็ตาม แต่การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องในกรณีร้ายแรงตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31(3) กรณีจึงมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามมาตรา 52 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน