แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาระบุเพียงว่า หากผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดยินยอมใช้เงิน 400,000 บาท โดยมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาและจะต้องชำระเบี้ยปรับจำนวนดังกล่าวซึ่งเป็นหนี้เงินจึงอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในระหว่างผิดนัด เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระเงินในวันที่ 12 เมษายน 2542 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ จึงถือว่าผิดนัดต้องรับผิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีอำนาจหน้าที่สอบสวนคดีอาญาภายในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ควบคุมตัวผู้ต้องหาและปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ซึ่งอยู่ในความควบุคมของโจทก์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2541 เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมนายวันชัยหรือสุกิจ พสุธาสถิต ผู้ต้องหา และโจทก์ได้ควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อทำการสอบสวน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาโดยนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 888 ของจำเลยที่ 1 มามอบไว้เป็นหลักประกัน โดยจำเลยทั้งสองสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ตามที่โจทก์กำหนดนัด หากจำเลยทั้งสองผิดนัดยินยอมให้ชดใช้เงินตามสัญญาประกันเป็นเงิน 400,000 บาท จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในสัญญาประกันในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2542 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะนายประกันและผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 ให้นำตัวผู้ต้องหามาส่งโจทก์ในวันที่ 19 มีนาคม 2542 แต่จำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ได้ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดสัญญา โจทก์ได้ทางถามให้จำเลยทั้งสองชำระเงินดังกล่าวด้วย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดใช้เงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 50,246.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 450,246.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาตามโจทก์ฟ้องจริง แต่จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งจากโจทก์ให้นำตัวผู้ต้องหาไปส่งมอบให้แก่โจทก์ และไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัด จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 400,000 บาท และในสัญญาประกันไม่ได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์ สัญญาไม่ได้ระบุว่าหากผิดนัดแล้ว จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้แก่โจทก์ และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากนำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งจากโจทก์ให้นำตัวผู้ต้องหาไปส่งมอบแก่โจทก์ตามฟ้องและได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระเงินตามสัญญาประกันแล้ว และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 450,246.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลฎีกาอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.9 ระบุเบี้ยปรับไว้แน่นอนแล้วจำนวน 400,000 บาท มิได้ระบุดอกเบี้ยไว้ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เห็นว่า แม้สัญญาประกันเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 2 ระบุเพียงว่า หากผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัด ยินยอมใช้เงิน 400,000 บาท โดยมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ด้วยกัน แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาและจะต้องชำระเบี้ยปรับจำนวน 400,000 บาท หนี้เบี้ยปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงินจึงอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งบัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี…” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหา โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับจำนวน 400,000 บาท แต่หนี้เงินเบี้ยปรับนี้จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิดดอกเบี้ยเมื่อโจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่าได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระเงินเบี้ยปรับตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 4 แล้ว ซึ่งครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือทวงถามในวันที่ 12 เมษายน 2542 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินเบี้ยปรับในวันดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2542 ที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งตัวผู้ต้องหานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับโจทก์ แล้วไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด กรณีจึงเป็นเรื่องผิดสัญญา และกรณีนี้กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่อายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์