คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องนั้น ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 288, 371 และริบอาวุธมีดของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางบุปผาหรือบุบผามารดาของนายวัชรินทร์หรือเอ๋ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ 250,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะ 1,200,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 กันยายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบอาวุธมีดพับปลายแหลมด้ามโลหะของกลาง ส่วนอาวุธมีดปลายแหลมด้ามไม้ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 กันยายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า นายวัชรินทร์หรือเอ๋ ผู้ตาย และจำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของบริษัทประจงกิจปาล์มออยล์ จำกัด โดยจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ลำเลียงผลปาล์มเข้าหม้อนึ่ง จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ควบคุมหม้อนึ่ง ส่วนผู้ตายทำหน้าที่ลำเลียงผลปาล์มออกจากหม้อนึ่ง ก่อนเกิดเหตุผู้ตายและจำเลยทั้งสองมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการทำงานโดยมีการเขียนข้อความท้าทายกันที่โบกี้ใส่ผลปาล์ม เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา ผู้ตายกวักมือมายังบริเวณที่จำเลยทั้งสองทำงาน จำเลยที่ 1 เดินเข้าไปหาผู้ตาย แล้วชกต่อยกัน หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 เข้าไปชกต่อยผู้ตาย ต่อมาจำเลยที่ 1 คว้าคอผู้ตายล็อกลักษณะยืนหันหน้าเข้าหากันแล้วใช้อาวุธมีดพับปลายแหลมด้ามโลหะของกลางแทงผู้ตายถูกที่บริเวณลิ้นปี่ มือซ้าย ข้อศอกซ้าย และคางเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจยึดอาวุธมีดของกลาง 2 เล่ม ได้จากบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่ผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง จากนั้นจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดพับปลายแหลมด้ามโลหะของกลางแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) แต่ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน แม้ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ตายมิใช่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยดังวินิจฉัยข้างต้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายจึงไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นางบุปผาหรือบุบผาเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่า อาวุธมีดพับปลายแหลมด้ามโลหะของกลางที่จำเลยที่ 1 ใช้แทงผู้ตายเป็นอาวุธมีดของจำเลยที่ 2 เมื่อก่อนเกิดเหตุผู้ตายและจำเลยทั้งสองมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการทำงานโดยมีการเขียนข้อความท้าทายกันที่โบกี้ใส่ผลปาล์ม ประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของนายศิรวิทย์พยานโจทก์ว่า ก่อนที่ผู้ตายกวักมือเรียก จำเลยทั้งสองทำงานอยู่ด้วยกัน จึงเชื่อได้ว่าก่อนที่จำเลยที่ 1 จะเดินเข้าไปหาผู้ตาย จำเลยที่ 2 รู้แล้วว่าจำเลยที่ 1 พกพาอาวุธมีดดังกล่าวไปด้วย การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปชกต่อยผู้ตาย หลังจากที่จำเลยที่ 1 เข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้ว แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่จะทำร้ายร่างกายผู้ตายมาตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 มีอาวุธมีดดังกล่าวติดตัวไปด้วยย่อมทำให้จำเลยที่ 2 คาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 อาจใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายในเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกันหลังจากที่จำเลยทั้งสองร่วมกันชกต่อยผู้ตาย ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณใกล้เคียงในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือพวกจำเลยที่ 1 ได้ทันท่วงทีหากมีเหตุให้ต้องช่วยเหลือ แม้จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นผู้ใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตาย แต่พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 มีความประสงค์ต่อความตายของผู้ตายด้วย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาข้างต้นรับฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีนางบุปผามารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ นางบุปผาซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางบุปผาสองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่นางบุปผาจะได้รับ ซึ่งในคดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้นางบุปผาได้รับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพผู้ตายรวมเป็นเงิน 150,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี รวมเป็นเงิน 1,200,000 บาท รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดเป็นเงิน 1,350,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และฐานานุรูปของนางบุปผาแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข เมื่อจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดสองในสามส่วนดังวินิจฉัยมาข้างต้นจำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นางบุปผาทั้งสิ้น 900,000 บาท ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อตามทางพิจารณาปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสองวิ่งหลบหนีไปทางบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จำเลยที่ 1 ให้การไว้ว่า ได้ส่งอาวุธมีดที่ใช้ก่อเหตุให้จำเลยที่ 2 จากนั้นจำเลยที่ 2 โยนอาวุธมีดทิ้งลงไปในบ่อบำบัดน้ำเสียห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 50 เมตร ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพาอาวุธมีดของกลางไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วร่วมกันใช้อาวุธมีดดังกล่าวแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นนำมารับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามฟ้องโจทก์ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงนั้นมาวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ย่อมเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง อันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางบุปผาหรือบุบผามารดาของผู้ตายเป็นเงิน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 กันยายน 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นางบุปผา ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 (เดิม) และยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนางบุปผาหรือบุบผา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share