คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แม้จะไม่ปรากฏข้อความว่าให้ยืนยก แก้หรือกลับแต่ปรากฏข้อความว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ซึ่งแสดงว่าพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั่นเอง ย่อมถูกต้องตามมาตรา 214 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว
ในชั้นแรกจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และต่อสู้ว่าผู้ทำการสอบสวนทำการสอบสวนโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ต่อมาจำเลยกลับให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ขอให้ลงโทษจำเลยแต่ในสถานเบาและแยกพิพากษาคดีส่วนตัวของจำเลยให้เสร็จสิ้นไปนั้น
เป็นการแสดงว่าจำเลยไม่ติดใจต่อสู้คดี ตามคำให้การฉบับแรกนั้นแล้ว ฉะนั้นข้อต่อสู้ของจำเลยชั้นเดิมที่ว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่เป็นปัญหาที่ศาลจะต้องยกขึ้นวินิจฉัยต่อไป
การที่จะฟังว่าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เพราะในการนี้อาจต้องพิจารณาถึงข้อบังคับทั้งหลายซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจเป็นข้อประกอบด้วยตามมาตรา 16 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ย่อยาว

คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องนายซือพวกกับพวกเป็น 3 สำนวน มีข้อหาว่าลักลอบนำทอง เครื่องทองรูปพรรณและเงินตราออกนอกราชอาณาจักรไทยโดยมิได้เสียภาษีและมิได้รับอนุญาต ในชั้นต้นจำเลยให้การปฏิเสธและยกข้อกฎหมายขึ้นตัดฟ้องหลายประการ

ภายหลังที่ศาลอาญาสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว นายกำตง แซ่ลิ้มกับจำเลยบางคนยื่นคำร้องมีข้อความสำคัญว่า ขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ทุกประการ ขอให้ศาลลงอาญาแต่ในสถานเบาและแยกพิพากษาคดีส่วนตัวของจำเลยผู้กลับให้การรับสารภาพให้เสร็จสิ้นไปด้วย

โจทก์ไม่ คัดค้านศาลอาญาจึงแยกพิพากษาคดีที่จำเลยรับสารภาพโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทำผิดตามฟ้อง วางโทษความผิดในบทที่หนักคือตามพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกและนำเข้าซึ่งสินค้าบางอย่าง 2482 มาตรา 9 ปรับ 5,000 บาท ลดฐานพยายาม 1 ใน 3 ฐานรับสารภาพ1 ใน 3 คงเหลือโทษปรับ 2,222 บาท 22 สตางค์ของกลางริบ

นายกำตง แซ่ลิ้มผู้เดียวอุทธรณ์ว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายขอให้ยกฟ้องโจทก์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อจำเลยกลับให้การใหม่รับสารภาพตามฟ้องนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอถอนข้อตัดฟ้องในคำให้การเดิม ข้อตัดฟ้องของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายจึงยังคงอยู่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย แล้วศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จำเลยมีบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดพระนครหรือธนบุรี การกระทำผิดเกิดขึ้นที่ตำบลดอนเมืองอำเภอบางเขน จังหวัดพระนคร ร.ต.อ.เชื้อเป็นผู้ทำการสอบสวนโดยอธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้สั่ง คำสั่งของอธิบดีกรมตำรวจในเรื่องนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด การสอบสวนจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์นายกำตง จำเลยฟังไม่ขึ้น

นายกำตงจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้จำเลยจะฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้นฎีกาของจำเลยซึ่งอ้างว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่มีข้อความว่าให้ยืน ยก แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 214 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นเห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ปรากฏข้อความว่าอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ซึ่งแสดงว่าศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเอง ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงตกไป

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายว่าพนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย เท่ากับไม่มีการสอบสวน พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าแม้จำเลยจะได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การชั้นแรกของจำเลยก็ดี แต่ต่อมาจำเลยได้กลับให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ตามคำให้การจำเลยใหม่นี้เป็นการแสดงอย่างชัดแจ้งว่า จำเลยไม่ติดใจต่อสู้คดีในข้อกฎหมายที่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การฉบับแรกนั้นแล้วมิฉะนั้นจำเลยจะขอให้ลงโทษแต่ในสถานเบาและแยกพิพากษาคดีส่วนตัวจำเลยให้เสร็จสิ้นไปได้อย่างไร ฉะนั้นข้อต่อสู้ของจำเลยชั้นเดิมในข้อที่ว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นปัญหาที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยต่อไปอีก อนึ่งในคดีเรื่องนี้การที่จะฟังว่าเจ้าพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเพราะในการนี้อาจต้องพิจารณาข้อบังคับทั้งหลายซึ่งว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจเป็นข้อประกอบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 16 เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่ปรากฏว่าอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนมิได้เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับทั้งหลายอันว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของตำรวจในข้อใดแล้ว ก็ไม่มีข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่าการสอบสวนนั้นจะใช้ได้หรือไม่

พิพากษายืน

Share