คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้ใช้เงินแก่ บ. หรือผู้ถือ มีผู้นำเช็คมาแลกเงินสดไปจากโจทก์โจทก์จึงเป็นผู้ทรงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คได้ จำเลยหาอาจต่อสู้โจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง แต่จำเลยให้การเพียงว่าเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่ บ. ไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพราะจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คนั้นไปแล้ว เป็นการกล่าวถึงความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คกับผู้ทรงคนก่อนเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คโดยการคบคิดกันฉ้อฉลกับผู้ทรงคนก่อนอย่างไร จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 916
จำเลยให้การว่าโจทก์ใช้อำนาจในการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตโดยมิได้บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท
จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาท จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด สาขาแกลง ลงวันที่ 15พฤศจิกายน 2538 สั่งจ่ายเงินจำนวน 350,000 บาท ซึ่งจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายชำระหนี้แก่ผู้มีชื่อ และผู้มีชื่อนำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ เมื่อถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน369,687 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่นายบิลลี่นารถมณี เพื่อชำระค่ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 80 – 9039 ระยอง ซึ่งนายบิลลี่ขายให้แก่นายกิมเต็ก แซ่โก สามีจำเลย แต่นายบิลลี่ไม่สามารถโอนรถยนต์ให้ได้ เนื่องจากชื่อในทะเบียนรถยนต์เป็นของนายถาวร มัญชุนากร นายบิลลี่จึงให้จำเลยนำเงินไปชำระให้แก่นายถาวรจำนวน 508,800 บาท และจะนำเช็คพิพาทมาคืนจำเลยภายใน 7 วัน เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้ที่ต้องชำระกันตามกฎหมาย โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน โจทก์มีหนังสือทวงถามนายบิลลี่ แสดงว่ามีเจตนาไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 19,687 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คสั่งจ่ายนายบิลลี่ นารถมณี หรือผู้ถือเป็นผู้รับเงินโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทมาโดยมีผู้นำมาแลกเงินสดไปจากโจทก์ ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 ที่ว่า “อันผู้ทรงนั้นหมายความว่าบุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ผู้ถือก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน” ฉะนั้นเมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโจทก์เป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาท โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คพิพาทได้ จำเลยถูกฟ้องในมูลตั๋วเงินคือเช็คพิพาทหาอาจต่อสู้ผู้ทรงคือโจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่งตามคำให้การของจำเลยให้การเพียงว่าเช็คพิพาทที่จำเลยสั่งจ่ายให้แก่นายบิลลี่ นารถมณีไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพราะจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คนั้นไปแล้ว คำให้การดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกล่าวถึงความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทกับผู้ทรงคนก่อนเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การชัดแจ้งว่าโจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทโดยการคบคิดกันฉ้อฉลกับผู้ทรงคนก่อนอย่างไร ฉะนั้น จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ผู้ทรงเช็คพิพาทว่าเช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันไม่ได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 916 ดังกล่าว ที่จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้อำนาจในการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับเช็คมาจากผู้ใด ชำระหนี้ค่าอะไร และมิได้บรรยายถึงนายบิลลี่ นารถมณี ตลอดจนไม่ได้ฟ้องนายบิลลี่ นารถมณี เป็นจำเลยด้วย แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาไม่สุจริตนั้น ก็เป็นเรื่องการใช้สิทธิในทางศาลของโจทก์ที่จะฟ้องบุคคลที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ตามแต่จะเลือกและเมื่อจำเลยมิได้บรรยายให้ชัดว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี รูปคดีไม่จำต้องสืบพยานโจทก์จำเลยและคดีวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบมาแล้ว การที่จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามมาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามเช็คพิพาทพร้อมดอกเบี้ยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share