แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การคำนวณค่ารายปีจากทรัพย์ที่ให้เช่าไปนั้นแม้จะอาศัยค่าเช่าเป็นหลักในการคำนวณ ถ้าหากมีเหตุบ่งให้เห็นค่าเช่านั้นไม่ใช่จำนวนอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เจ้าพนักงานก็มีอำนาจแก้หรือคำนวณ ค่ารายปีเสียใหม่ได้ ในระหว่างที่ยังอุทธรณ์เรื่องเจ้าพนักงานเก็บค่าภาษีเกินไปนั้นผู้รับประเมินก็ยังต้องเสียค่าภาษีตามที่เรียกเก็บภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อโจทก์ไปเสียภาษีภายหลังเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ เจ้าพนักงานย่อมมีสิทธิเรียกเก็บภาษีเพิ่มได้ตามมาตรา 43
ย่อยาว
คดีนี้ได้ความว่าโจทก์มีโรงเลื่อยจักรแล้วให้ผู้อื่นเช่าไป ในการเสียค่าภาษีโรงเรือนแลที่ดิน โจทก์ได้ยื่นบัญชีแสดงค่าเช่ารายปีว่าเก็บค่าเช่าได้ ๒๒๗๕ บาท ซึ่งโจทก์ควรเสียค่าภาษีเพียง ๙๔ บาท ๗๙ สตางค์ แต่เจ้าพนักงานเรียกเก็บจากโจทก์เป็นเงิน ๒๘๕ บาท ๔๒ สตางค์ โจทก์จึงอุทธรณ์ต่อจำเลย ๆ เรียกเก็บภาษีจากโจทก์ ๒๔๒ บาท ๘๖ สตางค์ โดยคิดคำนวณค่ารายปีอันสมควรจะให้เช่าได้ในปีนั้นเป็นเงิน ๕๘๒๘ บาท ๕๗ สตางค์ เมื่อโจทก์นำค่าภาษี ๒๔๒ บาท ๘๖ สตางค์ไปเสีย โจทก์ถูกปรับอีก ๒๔ บาท ๒๙ สตางค์เพราะโจทก์ไม่นำไปเสียภายใน ๙๐ วัน โจทก์จึงฟ้องจำเลยเรียกเงินคืนที่เกินไป ๑๗๒ บาท ๓๖ สตางค์
ศาลล่างทั้ง ๒พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์แปลความใน ม.๘ แห่งพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือน ฯ ผิดความประสงค์ของกฎหมายความจริงโจทก์ควรเสียค่าภาษีตามสวนค่ารายปีที่โจทก์ได้รับ แลว่าโจทก์ไม่ควรต้องเสียค่าปรับเพราะเป็นความล่าช้าของกรมสรรพากรที่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ล่าช้าไป
ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์แปลกฎหมายถูกต้องแล้ว เพราะตอนท้ายของมาตรา ๘ ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานที่จะแก้ไขหรือคำนวณค่ารายปีใหม่ ถ้ามีเหตุทำให้เห็นว่าค่าเช่านั้นไม่ใช่จำนวนเงินที่ควรจะให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ส่วนข้อที่โจทก์ว่าไม่ควรต้องเสียค่าปรับนั้น เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติใดในพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนแลที่ดินให้ทุเลาการชำระค่าภาษีในระหว่างอุทธรณ์ เมื่อโจทก์เสียค่าภาษีช้ากว่า ๙๐ วันตามมาตรา ๓๘ เจ้าพนักงานก็มีอำนาจเพิ่มค่าภาษีขึ้นได้ตามมาตรา ๔๓ จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง