แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า “ฯลฯ ข้าพเจ้า อ.ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวเลขที่ 1/11 ซอยวัฒนโยธินถนนราชวิถีแขวงถนนพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครขอมอบอำนาจให้ ม. ฯลฯ เป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจกระทำการแทนข้าพเจ้าในกิจการดังต่อไปนี้ ข้อ 1. ให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ว. ผู้เช่าตึกแถวดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง รวมทั้งมีอำนาจแก้ฟ้องแย้งของจำเลย และให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนข้าพเจ้าได้ทุกประการ” การมอบอำนาจตามข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว มิใช่มอบอำนาจทั่วไปให้แก่ ม.จึงต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ก) ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ ได้ปิดอากรแสตมป์ 10 บาทครบถ้วนแล้วในวันยื่นฟ้อง ศาลจึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และแม้ภายหลังโจทก์นำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปติดอากรแสตมป์เพิ่มอีก20 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือขออนุญาตปิดอากรแสตมป์จากศาลก็หามีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจนั้นกลับเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ โจทก์ได้ระบุอ้างหนังสือให้ความยินยอมเป็นพยานและได้นำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาสืบเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ในวันสืบพยาน การที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นผิดระเบียบจำเลยจะต้องยื่นคัดค้านเสียภายใน 8 วัน ตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อจำเลยทราบตั้งแต่ขณะที่โจทก์นำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาสืบแล้วว่าเป็นการผิดระเบียบ แต่จำเลยก็มิได้คัดค้านเสียภายใน 8 วันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบเช่นนั้น จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านในภายหลังได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามีและได้รับความยินยอมจากสามีในการฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์มอบอำนาจให้นายมนตรี ตรีนุรักษ์ฟ้องคดีแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532 จำเลยเช่าตึกแถวเลขที่ 1/11ซอยวัฒนโยธิน ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี(เดิมเขตพญาไท) กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1247แขวงถนนพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ เพื่ออยู่อาศัยและค้าขาย มีกำหนด 1 ปี ครบกำหนดเช่าในวันที่ 15 กันยายน 2533โดยจำเลยตกลงให้ค่าเช่าล่วงหน้าเป็นเงินจำนวนหนึ่งและค่าเช่ารายเดือนอีกเดือนละ 400 บาท ตามสัญญาเช่าตึกแถวเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ก่อนครบกำหนดเช่าโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบว่าเมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์จะไม่ต่อสัญญาเช่าอีกต่อไป แต่เมื่อครบกำหนดเช่าแล้วจำเลยและบริวารไม่ยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือนละ 2,000 บาทขอให้บังคับจำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวเลขที่ 1/11 ซอยวัฒนโยธิน ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวดังกล่าวเสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของตึกแถวและที่ดินตามฟ้อง โจทก์เป็นหญิงมีสามี โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีให้ฟ้องคดีนี้หนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ซึ่งเป็นการมอบอำนาจระหว่างโจทก์กับนายมนตรี ตรีนุรักษ์ จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายการเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการเช่าโดยไม่มีสัญญาเช่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าจากโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายตึกแถวที่เช่าอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสมจะใช้เป็นสถานการค้า จะให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 400 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวเลขที่ 1/11 ซอยวัฒนโยธิน ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 15 ตุลาคม 2533)เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากตึกแถวพิพาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองส่วนที่จำเลยฎีกาในทำนองว่าหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป แต่ปรากฏจากสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ว่าโจทก์ติดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจนั้นเพียง 10 บาทในขณะยื่นฟ้องคดี และภายหลังได้นำอากรแสตมป์มาปิดอีก 20 บาทโดยพลการโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือขออนุญาตปิดอากรแสตมป์จากศาลนั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1มีข้อความว่า “ฯลฯ ข้าพเจ้านางอุทัยวรรณ ตรีนุรักษ์ ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวเลขที่ 1/11 ซอยวัฒนโยธิน ถนนราชวิถีแขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ขอมอบอำนาจให้นายมนตรี ตรีนุรักษ์ ฯลฯ เป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจกระทำการแทนข้าพเจ้าในกิจการดังต่อไปนี้ ข้อ 1. ให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องนางสาววรรณา พรประสิทธิ์เวช ผู้เช่าตึกแถวดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง รวมทั้งมีอำนาจแก้ฟ้องแย้งของจำเลยและให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนข้าพเจ้าได้ทุกประการ” การมอบอำนาจตามข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวมิใช่มอบอำนาจทั่วไปให้แก่นายมนตรี ตรีนุรักษ์หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 จึงต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาทตามประมวลรัษฎากร มาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ก)ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 ได้ปิดอากรแสตมป์ 10 บาทครบถ้วนแล้วในวันยื่นฟ้อง ศาลจึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานในคดีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และแม้ภายหลังโจทก์นำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปติดอากรแสตมป์เพิ่มอีก 20 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือขออนุญาตปิดอากรแสตมป์จากศาลก็หามีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจนั้นกลับเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่
และที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาหนังสือให้ความยินยอมเอกสารหมาย จ.2 ให้จำเลยก่อนวันสืบพยานจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้ระบุอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานและได้นำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาสืบเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ในวันสืบพยาน ซึ่งเมื่อโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นผิดระเบียบ จำเลยจะต้องยื่นคัดค้านเสียภายใน 8 วันตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจำเลยย่อมต้องทราบตั้งแต่ขณะที่โจทก์นำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาสืบโดยมิได้ส่งสำเนาเอกสารนั้น ให้จำเลยแล้วว่าเป็นการผิดระเบียบ แต่จำเลยก็มิได้คัดค้านเสียภายใน 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้ทราบเช่นนั้น จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านในภายหลังได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน