แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าเสียหายจำนวน 222,056 บาท ซึ่งจำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่ทำละเมิดได้ชดใช้แก่โจทก์หลังฟ้อง ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ชอบที่จะนำไปหักจากค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 655,602 บาท ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,264,967 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 655,602 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า … คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงข้อเดียวว่า ศาลอุทธรณ์นำเงินจำนวน 222,056 บาท ที่จำเลยที่ 4 จ่ายให้แก่โจทก์ภายหลังฟ้องไปหักกับเงินค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 655,602 บาท แล้วกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 400,000 บาท ถูกต้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน รอ 2876 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย การที่จำเลยที่ 4 ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 222,056 บาทนั้น ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์ ชอบที่จะนำไปหักจากค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์มีสิทธิได้รับจำนวน 655,602 บาทดังกล่าวได้ แต่เมื่อหักออกแล้วคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดชำระให้แก่โจทก์จำนวน 433,546 บาท ศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยให้เหลือเพียงจำนวน 400,000 บาทได้ เนื่องจากศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไขจำนวนเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์จำนวน 400,000 บาทจึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ 433,546 บาท ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 433,546 บาทให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ