คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 72/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาหมิ่นประมาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ข้อความที่จำเลยกล่าวไม่เป็นหมิ่นประมาท คดีของโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์โดยกล่าวอ้างข้อความที่เป็นหมิ่นประมาทเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นฟังมา ดังนี้ เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงเป็นอุทธรณ์คัดค้านในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ทวิ ถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้โจทก์ก็จะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมานั้นเป็นยุติแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้หมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ทั้งสองทางโทรศัพท์ต่อนางนิรชร ซึ่งเป็นบุคคลที่สามว่า “พิชัยเบิกเงินแล้วก็เอาเงินใส่กระเป๋าให้นายวิจิตร ศุกร์ประเสริฐ และกระเป๋านางนพคุณ พาโคกทม กระเป๋านางนพคุณนั่นนานแล้ว” ซึ่งหมายความว่าโจทก์ทั้งสองรับเงินสินบนจากนายพิชัยทุกครั้งที่นายพิชัยนำใบเสร็จรับเงินไปเบิกเงินจากโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โจทก์ที่ 1 เป็นพ่อบ้าน (เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป) การกระทำของจำเลยดังกล่าวโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจากประชาชนทั่วไป ปรากฏหลักฐานในแถบบันทึกเสียง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยพูดกับนางนิรชรตามที่บันทึกไว้ในแถบบันทึกเสียงไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยพูดใส่ความโจทก์ทั้งสองโดยประการที่จะทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง คดีของโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าข้อความในแถบบันทึกเสียงจำเลยพูดกับนางนิรชรว่า “พิชัยเบิกเงินแล้วก็เอาใส่กระเป๋าพ่อบ้าน (หมายถึงโจทก์ที่ 1) และกระเป๋านพ (หมายถึงนางนพคุณโจทก์ที่ 2) กระเป๋านพนั้นใส่มานานแล้ว” ซึ่งมีความหมายเพียงว่านายพิชัยได้เอาเงินใส่กระเป๋าของโจทก์ทั้งสองเท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองรับเงินนั้นเป็นเงินสินบนตามคำฟ้อง คดีของโจทก์ไม่มีมูล ฉะนั้นข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าในแถบบันทึกเสียงจำเลยพูดกับนางนิรชรว่า “แต่ผมรู้จากพิชัยนะว่าพอเบิกปุบ ในระยะหลังที่พ่อบ้านมาแล้วน่ะ ใส่กระเป๋าพ่อบ้านนะ เท่าที่ผมรู้ และใส่กระเป๋านพด้วย กระเป๋านพนั่นนานแล้วผมรู้” เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติม จึงเป็นอุทธรณ์คัดค้านในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ถึงแม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ โจทก์ก็จะยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกาไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมานั้นเป็นยุติแล้ว

พิพากษายกฎีกาของโจทก์ที่ 2

Share