คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7161/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534มาตรา 36 วรรคหนึ่ง เป็นบทกฎหมายที่กำหนดแนวทางว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะและในกรณีใดบ้าง และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของ ตามที่ระบุไว้ในกฎหมายส่วนวรรคสองเพียงแต่วางหลักการกว้าง ๆ ว่าการกำหนดค่าทดแทนนั้นต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ การได้มาสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน ดังนั้นรายละเอียดของการดำเนินการเวนคืนและการกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรมจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะซึ่งในขณะเกิดกรณีพิพาทคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 อันเป็นกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยทั่ว ๆ ไป ซึ่งหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนได้กำหนดไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงต้องคำนึงถึง (1) ถึง (5)ของมาตราดังกล่าวในวันที่ 22 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่14 มิถุนายน 2534 จึงไม่ถูกต้อง โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ได้มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ กันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่าย ทั้งทางนำสืบ ของโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยวางเงิน ค่าทดแทนในวันใด แต่พออนุมานได้ว่าก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองไปทำคำเสนอขอรับเงินค่าทดแทนจึงให้ จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 34145 เนื้อที่ 72 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นบ้านตึก 2 ชั้น เลขที่ 3627/42 ในทำเลการค้าที่ดีซึ่งในขณะที่ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาซื้อขายกันในท้องตลาดไม่น้อยกว่าตารางวาละ 40,000 บาทเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2531 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวาฯ พ.ศ.2531เพื่อประโยชน์สาธารณะในการสร้างทางหลวงเทศบาล โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ปรากฏว่าที่ดินและบ้านของโจทก์ทั้งสองอยู่ในบริเวณที่จะถูกเวนคืนเนื้อที่47 ตารางวา จำเลยแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนที่ดินเนื้อที่ 47 ตารางวา เป็นเงิน 376,000 บาท และค่ารื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 832,966 บาทค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดให้เป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาประกาศใช้บังคับจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขอให้กำหนดค่าทดแทนที่ดินเพิ่มอีกตารางวาละ 32,000 บาท แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัยโจทก์ทั้งสองได้ไปขอรับเงินค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้จำนวน1,208,966 บาท แต่จำเลยจ่ายให้ 906,724.40 บาทส่วนที่เหลือจะจ่ายต่อเมื่อโจทก์ทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ ต่อมาจำเลยได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินไปจากที่กำหนดเวนคืนเนื้อที่ 21.5 ตารางวา และจำเลยเพิ่งกำหนดค่าทดแทนที่ดินราคาตารางวาละ 8,000 บาท เป็นเงิน172,000 บาท ให้โจทก์ทั้งสอง ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเหลืออยู่เพียง 3.5 ตารางวา แต่จำเลยก็มิได้เวนคืนหรือรับซื้อที่ดินส่วนที่เหลือ จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่ม2,192,000 บาท และค่าเสียหายจากการที่ที่ดินของโจทก์ทั้งสองส่วนที่เหลือจากการเวนคืนเสื่อมประโยชน์เป็นเงิน140,00 บาท รวมเป็นเงิน 2,332,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่22 เมษายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 846,787 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,178,787 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,332,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนเพิ่มขึ้นและไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน2,055,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย (ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์)
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาว่าการที่ศาลอุทธรณ์นำราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองในปี 2534 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 36และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530มาตรา 21 วรรคหนึ่งตอนท้ายนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา 21 วรรคหนึ่งนี้ให้คำนึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 คือ ปี 2531 มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองจึงจะชอบ เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานใดมาเบิกความสนับสนุนให้เห็นได้ว่าราคาซื้อขายที่ดินในท้องตลาดของโจทก์ทั้งสองในปี 2531 ราคาเท่าใด ทั้งการเวนคืนที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นการเวนคืนเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม ค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงเหมาะสมเป็นธรรมแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 36 วรรคหนึ่งเป็นบทกฎหมายที่กำหนดแนวทางว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำได้ก็โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะและในกรณีใดบ้างและต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตามที่ระบุไว้ในกฎหมายส่วนวรรคสองเพียงแต่วางหลักการกว้าง ๆ ว่า การกำหนดค่าทดแทนนั้นต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติการได้มา สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์และความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน ดังนั้น รายละเอียดของการดำเนินการเวนคืนและการกำหนดค่าทดแทนที่เป็นธรรมจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะซึ่งในขณะเกิดกรณีพิพาทคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 อันเป็นกฎหมายแม่บทเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยทั่ว ๆ ไปซึ่งบัญญัติไว้ในหมวด 2 ตั้งแต่มาตรา 18 ถึงมาตรา 27 และหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณากำหนดค่าทดแทนได้กำหนดไว้ในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “เงินค่าทดแทนที่จะให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 นั้นถ้ามิได้บัญญัติไว้เป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะแล้วให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม”หลักเกณฑ์การกำหนดค่าทดแทนตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เป็นรายละเอียดของการกำหนดค่าทดแทนที่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534มาตรา 36 วรรคสอง ในกรณีปกติการกำหนดเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์โดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ของมาตรา 21แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530ย่อมเป็นธรรมตามกฎหมายแล้ว กรณีนี้จำเลยได้ดำเนินการกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่โจทก์ทั้งสองในระหว่างใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ.2531 ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อยู่ในระยะเวลาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอนก็ไม่มีขั้นตอนใดฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทั้งสองไปรับเงินค่าทดแทนเป็นวันภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาฯ มีผลใช้บังคับ 3 ปี 5 เดือน 12 วันก็ยังถือได้ว่าอยู่ในเวลาอันควร ดังนั้นการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสองจึงต้องคำนึง (1) ถึง (5) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 คือคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ประกอบราคาที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ทั้งสองในวันที่ 22 เมษายน 2531 ซึ่งเป็นวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ประกอบเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนคือเพื่อสร้างทางอันเป็นการบริการเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนโดยส่วนรวม ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อใช้ในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2534 นั้นไม่ถูกต้อง จึงมีปัญหาว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เป็นธรรมตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เป็นจำนวนเท่าใดปัญหานี้โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ในขณะออกพระราชกฤษฎีกาฯที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาตารางวาละไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทแต่โจทก์ทั้งสองเคยกล่าวอ้างไว้ในหนังสือที่อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 2 มกราคม 2535เอกสารหมาย จ.19 ว่า ปัจจุบันราคาที่ดินได้ถีบตัวสูงขึ้นมากหลายเท่าตัว ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงปัจจุบันมีการซื้อขายกันจริงประมาณตารางวาละ 30,000 บาท ขึ้นไป ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ประมาณ 47 ตารางวา จึงควรเป็นเงิน 1,410,000 บาทแสดงให้เห็นได้ว่าในปี 2531 ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาตารางวาละไม่ถึง 30,000 บาท คำเบิกความของโจทก์ที่ 1ดังกล่าวข้างต้นเป็นคำเบิกความลอย ๆ ขาดหลักฐานอื่นสนับสนุนทั้งขัดกับที่โจทก์ทั้งสองเคยกล่าวอ้างไว้ไม่น่าเชื่อถือ แต่ค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยเพิ่มขึ้นให้เป็นตารางวาละ 16,000 บาท นั้น ต่ำกว่าราคาตลาดที่ได้จากการสำรวจในระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2533ถึงวันที่ 20 กันยายน 2533 และการประเมินของสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สินกรมที่ดิน ตามสำเนารายงานการปรับราคาประเมินที่ดินฯ เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งรายงานไว้ว่า ที่ดินที่ติดซอยหมู่บ้านจันทร์เจริญมีราคาตารางวาละ 38,000 บาท แม้ราคานี้เป็นราคาในกลางปี 2533 หลังจากใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ 2 ปีกว่าซึ่งเป็นราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเพราะเหตุที่จะมีการเวนคืนตัดถนนผ่านที่ดินบริเวณนี้ก็ตาม แต่สภาพและที่ตั้งของที่ดินในหมู่บ้านจันทร์เจริญได้มีการปรับปรุงพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัยมีสาธารณูปโภคครบถ้วน การคมนาคมสะดวกอยู่แล้วทั้งที่ดินของโจทก์ทั้งสองใช้ประกอบกิจการรับเลี้ยงเด็กมีสภาพและที่ตั้งอยู่ในเกณฑ์ดีระยะเวลาต่อมาเพียง 2 ปีกว่าไม่น่าจะทำให้ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่าหนึ่งเท่าตัวจึงเชื่อว่าในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ ที่ดินของโจทก์ทั้งสองมีราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ19,000 บาท ศาลฎีกาได้พิจารณาโดยคำนึงถึง (1) ถึง (5) ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ.2530 แล้ว เห็นว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสองผู้ถูกเวนคืนและสังคมด้วยนั้นคือตารางวาละ 23,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่อยู่กึ่งกลางของราคาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยกับราคาที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 68.5 ตารางวา ตารางวาละ 23,000 บาทเป็นเงิน 1,575,500 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปแล้วเป็นเงิน 548,000 บาท และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยให้เพิ่มค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสองอีกเป็นเงิน376,000 บาทดังนั้นเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ชำระเพิ่มแก่โจทก์ทั้งสองจึงเป็นเงินจำนวน 651,500 บาท ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าวข้างต้น โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนับแต่วันที่ต้องมีการจ่ายหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคสาม โจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ได้มีการตกลงซื้อขายอสังหาริมทรัพย์กันตามมาตรา 10 จึงไม่มีวันที่ต้องมีการจ่ายทั้งทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองและจำเลยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยวางเงินค่าทดแทนในวันใด แต่พออนุมานได้ว่าก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ทั้งสองไปทำคำเสนอขอรับเงินค่าทดแทน จึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าวส่วนอัตราดอกเบี้ยสูงสุดนั้นในเวลาที่ต่างกันอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2534 จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าทดแทนเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองจำนวน 651,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ทั้งสองนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share