แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำเบิกความของพนักงานสอบสวนที่ว่าในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำผิดเป็นคำบอกเล่าจากจำเลยที่ 1 เมื่อประจักษ์พยานเบิกความว่าไม่เห็นจำเลยที่ 2 ในคืนเกิดเหตุ คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจึงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ที่ศาลล่างลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายโดยใช้ยานพาหนะจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 340 ตรี, 83 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ลงโทษจำคุกคนละ 21 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนในชั้นพิจารณาก็ได้ให้การรับสารภาพ แต่นำสืบปฎิเสธว่ามิได้ทำร้ายผู้เสียหายส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวน คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 14 ปี และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือ ใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าที่ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพต่อร้อยตำรวจโทโสภณผู้จับในทันทีนั้น ลำพังคำให้การรับสารภาพต่อเจ้าพนักงานผู้จับ ย่อมไม่พอฟังเพื่อลงโทษ เพราะแม้แต่คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนกฎหมายยังบังคับให้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า อาจใช้เป็นพยานหลักฐานยันผู้ต้องหาในการพิจารณาได้ และแม้ร้อยตำรวจโทโสภณ กับพันตำรวจตรีวีระศักดิ์ พนักงานสอบสวนจะเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ให้การว่าร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดก็เป็นเรื่องพยานโจทก์ได้รับคำบอกเล่าจากจำเลยที่ 1 ผู้ร่วมกระทำผิดซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 มิได้ พยานโจทก์คงมีแต่คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น แม้พันตำรวจตรีวีระศักดิ์พนักงานสอบสวนจะเบิกความประกอบคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน แต่ในเมื่อประจักษ์พยานของโจทก์ คือผู้เสียหายเบิกความฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำผิดด้วย โดยยืนยันว่าในคืนเกิดเหตุไม่เห็นจำเลยที่ 2 เสียแล้ว ลำพังคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับและพนักงานสอบสวนที่เบิกความประกอบเอกสารบันทึกการจับกุมและคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การปฎิเสธ ในชั้นพิจารณา และอ้างว่าลงชื่อในเอกสารต่าง ๆโดยไม่ทราบข้อความ ย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฎว่าในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมรถจักรยานยนต์คงได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 ลักสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์และการพาทรัพย์นั้นไป เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายเท่านั้น มิใช่ตัวการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย โดยใช้ยานพาหนะเพื่อพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม ให้จำคุก 12 ปี ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 ปี และให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์