แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือค้ำประกันระบุว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อย่างไม่มีจำกัด กับมีจำเลยที่ 3 ทำสัญญาจำนองให้ไว้ต่อโจทก์ และมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1จะต้องรับผิดเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนี้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 683,715 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์โดยยินยอมรับผิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยนั้น จำเลยที่ 2และที่ 3 หาจำต้องรับผิดร่วมด้วยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตนจะต้องรับผิดแต่แรกไม่เพราะเป็นความรับผิดคนละส่วนกัน
หนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1ยักยอกเงินโจทก์ไป เป็นหนี้คนละจำนวนกับหนี้ตามฟ้องในคดีอาญาเรื่องก่อน การที่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์คดีนี้ได้เคยแถลงไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่าผู้เสียหายตกลงกับจำเลยได้โดยผู้เสียหายได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ขอถอนคำร้องทุกข์เป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ในคดีก่อนเท่านั้น หาใช่เป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ในคดีนี้ไม่ เช่นนี้ หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ในคดีนี้จึงมีมูลหนี้อยู่จริงและหนี้นั้นยังไม่ระงับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2539 จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นพนักงานการตลาดของโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองประกันในวงเงิน 100,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาจ้างยักยอกทรัพย์สินของโจทก์ไป จำเลยที่ 1 นำเงินมาใช้ให้โจทก์บางส่วนและทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยรับว่าจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้โจทก์ 167,004.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยทั้งได้กำหนดวันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไว้ด้วยแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองจำเลยที่ 3 แล้ว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ 292,250 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 167,004.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จและขอให้บังคับจำนองยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ 100,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดจากการฉ้อฉลของโจทก์ ไม่มีมูลหนี้กันจริง โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ 167,004.50 บาทแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าว 100,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 125,250 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 656 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ 167,004.50 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในหนี้ดังกล่าว 100,000 บาท และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดนับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงมีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นเป็นหนี้ที่เกิดจากความเสียหายที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อขึ้นอันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ เป็นการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง และที่จำเลยที่ 3 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า หนี้เดิมระงับไปแล้วเพราะจำเลยที่ 1ได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แม้จะมีการรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 ก็เป็นโมฆะเพราะไม่มีวัตถุแห่งหนี้แล้วนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 3 ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 และที่ 3ทำไว้แก่โจทก์มิได้ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ ค่าเสียหายของโจทก์จึงไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 การที่จำเลยที่ 1 ตกลงรับสภาพหนี้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นั้นจำเลยที่ 1 กระทำไปคนเดียว มิได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวด้วยนั้น เห็นว่าแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 683ในเรื่องค้ำประกันนั้นได้บัญญัติไว้ว่า “อันค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย” และตามบทบัญญัติมาตรา 715 ได้บัญญัติถึงว่า”ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ (1) ดอกเบี้ย” และตามหนังสือค้ำประกันพนักงานและลูกจ้างของสหกรณ์เอกสารหมายจ.8 ข้อ 1 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมค้ำประกันจำเลยที่ 1 อย่างไม่มีจำกัดก็ตาม แต่มูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ทำละเมิด และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยตามสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ โดยยินยอมรับผิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาจำต้องรับผิดร่วมด้วยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตนจะต้องรับผิดแต่แรกไม่ เพราะเป็นความรับผิดคนละส่วนกัน
ข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า หนี้เดิมระงับไปแล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แม้จะมีการรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 ก็เป็นโมฆะ เพราะไม่มีวัตถุแห่งหนี้แล้ว เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หนี้ตามฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1689/2531 ของศาลจังหวัดชุมพร ที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปเป็นเงินจำนวน 152,996 บาท แต่หนี้ตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้สามให้ร่วมกันรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินโจทก์ไปอีกยอดหนึ่งจำนวน 167,004.50 บาท เป็นหนี้คนละจำนวนกัน การที่ผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายซึ่งก็คือโจทก์คดีนี้ได้แถลงไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 ของศาลจังหวัดชุมพร เอกสารหมาย ล.2 ว่า ผู้เสียหายตกลงกับจำเลยได้ซึ่งก็คือจำเลยที่ 1 คดีนี้โดยผู้เสียหายได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไป ขอถอนคำร้องทุกข์นั้น จะเห็นได้ว่า หนี้ที่จำเลยที่ 1 ชำระในคดีอาญาดังกล่าวคือหนี้ที่จำเลยที่ 1ชำระให้โจทก์จำนวน 152,996 บาท ตามรายงานกระบวนพิจารณาเอกสารหมาย จ.2นั้นเอง หาใช่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในยอดเงินจำนวน 167,004.50 บาท แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 ไม่ หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังเป็นหนี้โจทก์อยู่ และหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวหาได้เป็นโมฆะตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3