แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เอกสารฉบับพิพาทไม่ใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกัน เป็นแต่เพียงหลักฐานการกู้ยืมเงินและหลักฐานการค้ำประกัน แม้โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
โจทก์มิได้ขอให้จำเลยใช้ค่าทนายความแต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167เป็นบทบัญญัติบังคับศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้ไม่มีผู้ขอก็ตามค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งในเรื่องนี้จึงหาได้เกินคำขอไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 345,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือบอกกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,149.92 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 346,149.92 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยกู้ยืมเงินและค้ำประกันหนี้ตามฟ้อง เมื่อประมาณปลายปี 2536 จำเลยที่ 1เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 100,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ไม่ได้ทำหนังสือสัญญากู้ เพียงแต่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษเปล่าจำนวน 2 ชื่อและต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ในกระดาษเปล่าจำนวน 1 ชื่อ เพื่อรับรู้ว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ ต่อมาวันที่ 12มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 2 ชำระเงินกู้ดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว โจทก์นำเอกสารที่จำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้มากรอกข้อความโดยจำเลยทั้งสองไม่รู้เห็นและยินยอม จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 345,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ยืมในเอกสารหมาย จ.2 และจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในเอกสารหมาย จ.3
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามเอกสารดังกล่าวหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 345,000 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามเอกสารดังกล่าว
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า เอกสารหมายจ.2 และ จ.3 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่เห็นว่า เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 ไม่ใช่หนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นแต่เพียงหลักฐานการกู้ยืมเงินและหลักฐานการค้ำประกัน แม้โจทก์มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่าคดีนี้โจทก์มิได้ขอให้จำเลยใช้ค่าทนายความ แต่ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 167 บัญญัติว่า คำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ไม่ว่าคู่ความทั้งปวงหรือแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจักมีคำขอหรือไม่ก็ดีให้ศาลสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้วแต่กรณี เป็นบทบัญญัติบังคับศาลต้องมีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้ไม่มีผู้ขอก็ตามค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่ง ศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์มีคำสั่งในเรื่องนี้จึงชอบแล้วหาได้เกินคำขอไม่
พิพากษายืน