คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6976/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าปลาป่นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์จำเลยให้การต่อสู้ว่าปลาป่นที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีสิ่งอื่นเจือปน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากกว่าจำนวนที่โจทก์เรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากจำเลยได้รับปลาป่นที่มีขนไก่ปลอมปนแล้วจำเลยยังสั่งซื้อปลาป่นจากโจทก์ต่อไปอีก30คันรถบรรทุกแสดงว่าแม้ปลาป่นของโจทก์จะมีขนไก่ปลอมปนอยู่บ้างก็น่าจะเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับทำให้ไก่ของจำเลยเจริญเติบโตช้ากว่าปกติการที่ปลาป่นมีขนไก่ปลอมปนอยู่จึงไม่ถึงกับถือได้ว่าเป็นกรณีทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติในอันที่โจทก์ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อจำเลยผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472 จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 488 จำเลยฎีกาว่า สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยได้ไกล่เกลี่ยให้จนโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ค้างชำระแสดงว่าได้มีการตกลงระงับข้อพิพาทแล้ว อันทำให้ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินเต็มจำนวนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นั้น เมื่อจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำสั่งย้อนสำนวนมาให้ศาลชั้นต้นทำการสืบพยานจำเลยที่ระบุเพิ่มเติม แล้วให้พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซื้อปลาป่นจากโจทก์หลายครั้งรวมเป็นน้ำหนักจำนวน838,680 กิโลกรัม ราคา 8,535,194 บาท และจำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์แล้วจำนวน 8,064,823 บาท คงค้างชำระอีกจำนวน 470,371 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 488,009 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 488,009 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวน 470,371 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยซื้อปลาป่นจากโจทก์จำนวน 838,680 กิโลกรัม เป็นเงิน 8,535,194 บาท นั้นไม่ถูกต้อง ทั้งปลาป่นที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยมีสิ่งอื่นเจือปนลงไปด้วย ทำให้คุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ผสมอาหารเลี้ยงไก่ ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากกว่าจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินจากจำเลย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และโจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยชำระเงิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 470,371 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2530เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยเมื่อคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน17,638 บาท ตามที่โจทก์ขอ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าระหว่างวันที่ 2 มกราคม 2530 ถึงเดือนพฤษภาคม 2530 จำเลยสั่งซื้อปลาป่นจากโจทก์หลายครั้งคิดเป็นน้ำหนักจำนวน 838,680 กิโลกรัม รวมเป็นเงินจำนวน8,535,194 บาท และจำเลยได้ชำระเงินแก่โจทก์แล้วจำนวน 8,064,823 บาทคงค้างชำระอีกจำนวน 470,371 บาท ปรากฏว่าปลาป่นบางส่วนที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2530 ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2530 จำนวน 12 คันรถบรรทุกมีขนไก่เจือปนอยู่ด้วย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระราคาค่าปลาป่นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามฟ้องได้หรือไม่ จำเลยนำสืบอ้างว่าจำนวนปลาป่นจำนวน 12 คันรถบรรทุกที่โจทก์ส่งให้แก่จำเลยมีขนไก่เจือปนอยู่ด้วยตามรายงานผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย ล.3 ทำให้ปลาป่นมีโปรตีนสูงแต่ทำให้ไก่เจริญเติบโตช้า แต่จำเลยนำสืบไม่ได้ว่าจำนวนขนไก่ที่ปลอมปนอยู่ในปลาป่นจำนวน 12 คันรถบรรทุกดังกล่าวมีจำนวนมากน้อยเพียงใด และจำนวนขนไก่ที่ปลอมปนในปลาป่น ซึ่งทำให้ปลาป่นมีโปรตีนสูงขึ้นดังกล่าวมีมากพอที่จะทำให้ไก่เจริญเติบโตช้าไปกี่วัน และจำเลยได้รับความเสียหายเพียงใด เมื่อจำเลยทราบจากรายงานผลการตรวจวิเคราะห์เอกสารหมาย ล.3 ว่า ปลาป่นที่โจทก์ส่งมานั้นมีขนไก่ปลอมปนมาด้วย ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าปลาป่นที่ส่งมาไม่ถูกต้องตามที่จำเลยตกลงซื้อจากโจทก์หรือส่งปลาป่นดังกล่าวคืนไปเพื่อให้โจทก์ส่งปลาป่นมาใหม่ให้ถูกต้องตามที่ตกลงกันไว้แต่อย่างใด กลับปรากฏจากคำเบิกความของนายทรงชัย คุปติเวช กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยว่าจำเลยได้ใช้ปลาป่นที่อ้างว่ามีขนไก่ปลอมปนทั้ง 12 คันรถบรรทุกจนหมด อีกทั้งภายหลังจำเลยยังสั่งซื้อปลาป่นจากโจทก์อีกจำนวนถึง 30 คันรถบรรทุก เป็นเงินประมาณ 3,000,000 บาท และจำเลยก็ได้ชำระราคาปลาป่นที่จำเลยสั่งซื้อจากโจทก์ในคราวหลังดังกล่าวให้โจทก์เรียบร้อยแล้ว การที่จำเลยใช้ปลาป่นที่จำเลยอ้างว่ามีขนไก่ปลอมปนจนหมดทั้ง 12 คันรถบรรทุก โดยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ส่งปลาป่นมาให้จำเลยโดยผิดไปจากข้อตกลงนั้น เห็นว่าเป็นการผิดวิสัยของการค้าขาย หากปลาป่นของโจทก์มีขนไก่ปลอมปนอยู่จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ไก่ของจำเลยหรือทำให้ไก่ของจำเลยเจริญเติบโตช้ากว่าปกติแล้ว จำเลยย่อมจะโต้แย้งทักท้วงและไม่ยอมสั่งซื้อปลาป่นจากโจทก์อีก แสดงว่าแม้ปลาป่นของโจทก์จะมีขนไก่ปลอมปนอยู่บ้างก็น่าจะเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงกับทำให้ไก่ของจำเลยเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ เช่นนี้ การที่ปลาป่นจำนวน 12 คันรถบรรทุกดังกล่าวมีขนไก่ปลอมปนอยู่จึงไม่ถึงกับถือได้ว่าเป็นกรณีทรัพย์สินที่ขายชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติในอันที่โจทก์ผู้ขายจะต้องรับผิดต่อจำเลยผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 472 และจำเลยไม่มีสิทธิจะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 488 จำเลยจึงต้องรับผิดชำระราคาปลาป่นที่ค้างชำระตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทยได้ไกล่เกลี่ยให้จนโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่ค้างชำระ แล้วให้โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินเต็มตามจำนวนที่ค้างชำระ แสดงว่าข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยได้มีการตกลงระงับข้อพิพาทแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินเต็มจำนวนเนื่องจากมีการตกลงระงับข้อพิพาทบางส่วนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 นั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยข้อดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share