คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา46ที่บัญญัติว่าในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญานั้นหมายถึงข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและศาลต้องฟังยุติมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่ใช่ประเด็นปลีกย่อยสำหรับคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่2ได้บุกรุกเข้าไปปลูกสร้างเรือนในที่ดินพิพาทสำหรับคดีแพ่งคดีนี้ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามได้เพียงว่าจำเลยที่2ได้บุกรุกที่ดินพิพาทจริงส่วนปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยที่2บุกรุกเนื้อที่เท่าไรเป็นไปตามคำพิพากษาคดีอาญาหรือตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้เป็นเพียงข้อปลีกย่อยในรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันอีกในชั้นพิจารณาซึ่งโจทก์โจทก์ร่วมและจำเลยที่2จะต้องสืบพยานในประเด็นนี้กันต่อไปอีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5994ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี (เมืองนครปฐม) (นครชัยศรี)เนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน ร่วมกับนางสาวสุมานี อัศวชัยสุวิกรมระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2531 ถึง 20 ธันวาคม 2532 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปรบกวนและยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกบางส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 1 ไร่ 4 ตารางวา ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทโจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกพนักงานอัยการจังหวัดนครปฐมได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกต่อศาลชั้นต้นตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 866/2533ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองไปแล้ว โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าขาดประโยชน์เดือนละ4,000 บาท ขอคิดค่าเสียหายก่อนฟ้องทั้งหมดเป็นเงิน 50,000บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรื้อถอนและขนย้ายเพิงพักอาศัยกับสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ตลอดจนเสาคอนกรีตไปจากที่ดินพิพาทและทำสภาพที่ดินให้คืนสู่สภาพเดิม ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามมิให้เกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 50,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างข้างต้นและออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยใช้ทำนามาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยทั้งสอง โจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ200 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ให้จำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ระหว่างพิจารณา นายช่อเพียว เตโชฬาร และนางคนึงนิจ เตโชราฬขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมโดยอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีส่วนอาญาที่พนักงานอัยการฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาบุกรุกและโจทก์ในฐานะผู้เสียหายได้ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1027/2534 ของศาลชั้นต้นศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้วคดีพอวินิจฉัยได้โดยถือข้อเท็จจริงตามคดีส่วนอาญา โจทก์และโจทก์ร่วมแถลงไม่ติดใจสืบพยานศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนและขนย้ายเพิงพักอาศัยกับสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ รวมทั้งเสาคอนกรีตออกไปจากที่ดินพิพาทตามแผนที่วิวาทรังวัดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2537 และทำสภาพที่ดินให้คืนสู่สภาพเดิม ให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทมิให้เกี่ยวข้ออีกต่อไปคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมมีว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 2 ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา46 ที่บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาส่วนอาญานั้น หมายถึง ข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและศาลต้องฟังยุติมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่ใช่ประเด็นปลีกย่อย สำหรับคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแดงที่ 975/2537 ซึ่งศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้บุกรุกเข้าไปปลูกสร้างเรือนในที่ดินพิพาท สำหรับคดีแพ่งคดีนี้ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามได้เพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้บุกรุกที่ดินพิพาทจริง ส่วนที่ว่าที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 บุกรุกเนื้อที่เท่าไร เป็นไปตามคำพิพากษาคดีอาญาหรือตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้เป็นข้อปลีกย่อยรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันอีกในชั้นพิจารณา ซึ่งโจทก์โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 จะต้องสืบพยานในประเด็นนี้กันต่อไปอีก
พิพากษายืน

Share