คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6832/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่ผู้อุทธรณ์นำมาวางต่อศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เป็นเพียงเงินที่วางไว้เพื่อเป็นประกันว่า หากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมที่ได้ออกใช้ก่อนจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ มิใช่เป็นการวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีในศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์
ป.วิ.พ. มิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการถอนอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ แต่มาตรา 246 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม เมื่อคำฟ้องอุทธรณ์เป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) กรณีต้องนำเรื่องการถอนฟ้องตามมาตรา 176 มาใช้บังคับกับการถอนคำฟ้องอุทธรณ์โดยอนุโลม เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยถอนคำฟ้องอุทธรณ์ ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์เลย ดังนี้ เงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยนำมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ จึงตกกลับคืนสู่จำเลยผู้เป็นเจ้าของ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยมีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนจากศาล จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับจำเลยและผู้ร้องโดยเฉพาะ โจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินที่เช่าโฉนดเลขที่ 25222, 30363, 30364, 33287 และ 33288 ตำบลบางระมาด อำเภอตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 780,000 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 ไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินที่เช่ากับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์และนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลจำนวน 45,910 บาท เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2544 ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์วันที่ 28 ธันวาคม 2544 ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2546 จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
วันที่ 23 สิงหาคม 2547 ผู้ร้องยื่นคำแถลงว่า จำเลยถูกศาลแพ่งพิทักษ์ทรัพย์และถูกพิพากษาให้ เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2531 อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของจำเลยยังเป็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 ผู้ร้องประสงค์ขอรับเงินคืนจากศาล โจทก์และจำเลยไม่คัดค้าน
ผู้ร้องแถลงรับว่า จำเลยถูกปลดจากการล้มละลายแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2547 เนื่องจากล้มละลายมาแล้วครบ 3 ปี ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 81/1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำแถลงของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องรับเงินค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยวางศาลจำนวน 45,910 บาท เข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยยื่นอุทธรณ์และนำเงินค่าธรรมเนียมที่จะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 เงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นเพียงเงินที่วางไว้เพื่อเป็นประกันว่า หากในที่สุดศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้อุทธรณ์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมแทนคู่ความที่ชนะคดีแล้ว ผู้ชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าธรรมเนียมที่ได้ออกใช้ก่อนจากเงินที่ผู้อุทธรณ์วางไว้ หาใช่เป็นการวางเพื่อชำระหนี้แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีในศาลชั้นต้นไม่ จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวยังเป็นของผู้อุทธรณ์ และโดยเหตุที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้มีบทบัญญัติว่าด้วยการถอนอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ แต่ตามมาตรา 246 ของลักษณะ 1 ว่าด้วยอุทธรณ์บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้โดยอนุโลม คำฟ้องอุทธรณ์เป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการถอนคำฟ้องตามมาตรา 176 มาใช้บังคับเกี่ยวกับการถอนคำฟ้องอุทธรณ์โดยอนุโลม ซึ่งการถอนคำฟ้องในคดีแพ่งนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 บัญญัติว่า “การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย…” เมื่อศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยถอนคำฟ้องอุทธรณ์แล้ว การถอนคำฟ้องอุทธรณ์ย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องอุทธรณ์เลย ดังนี้เงินค่าธรรมเนียมใช้แทนโจทก์ที่จำเลยนำมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ซึ่งยังเป็นของจำเลยอยู่ จึงตกกลับคืนสู่จำเลยผู้เป็นเจ้าของ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยมีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนจากศาล จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับจำเลยและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยโดยเฉพาะ มิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของโจทก์แต่ประการใด โจทก์หามีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share