คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 677/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รูปร่างลักษณะของกล่องฝากับกระป๋องขนมปังกรอบของโจทก์และจำเลยเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน สีและภาพต่าง ๆ ในตำแหน่งเดียวกันเหมือนกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันเท่ากัน และมีคำที่เหมือนกัน 2 คำ ถึงจะมีคำอักษรโรมันอีก 2 คำ ที่ต่างกัน แต่แม้ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบหรือได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยต่างเวลากัน ก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังนั้น การที่จำเลยผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นของโจทก์
เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญามิใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่สามารถได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า รูปรวงข้าวสาลี ประกอบคำภาษาโรมันว่า “JACOB & COS” “EXTRA LIGHT”และ “CREAM CRACKERS” เครื่องหมายการค้าคำภาษาโรมันว่า “JACOB’S”ในรูปวงรีปลายแหลม และเครื่องหมายการค้าคำภาษาโรมันว่า “JACOB & CO”และ “CREAM CRACKER” บนรูปแผ่นขนมปังกรอบซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์ขนมปัง ขนมปังกรอบและขนมเค็กมากว่า 50 ปี จำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทำให้สาธารณชนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าของโจทก์ ขอให้บังคับให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าที่เลียนแบบโจทก์ และจัดการมิให้มีการจำหน่ายสินค้าตามเครื่องหมายการค้าเลียนแบบต่อไป พร้อมทั้งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เครื่องหมายการค้าของจำเลยไม่เป็นการเลียนแบบและไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างเห็นได้ชัด โจทก์เสียหายไม่เกินเดือนละ 1,000 บาทจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ามากว่า 40 ปี โดยชอบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าโดยอายุความปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่เพิกถอนให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเป็นเวลาประมาณ 6-7 เดือน ไม่เป็นการครอบครองปรปักษ์ และไม่อาจได้มาโดยทางครอบครองปรปักษ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเลิกใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทและห้ามจำเลยจำหน่ายสินค้าซึ่งเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในท้องตลาด ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเลิกใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ยกคำขออื่นของโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่า เครื่องหมายการค้าซึ่งปรากฏที่กล่องขนมปังกรอบหมาย จ.9 และกระป๋องขนมปังกรอบหมาย จ.11ของจำเลยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้องทั้ง 3แบบนั้นปรากฏอยู่ที่กระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของโจทก์หมาย จ.4และ จ.5 กับที่กล่องบรรจุขนมปังกรอบหมาย จ.6 เมื่อนำกล่องบรรจุขนมปังกรอบหมาย จ.9 ของจำเลยมาเปรียบเทียบกับกล่องบรรจุขนมปังกรอบหมาย จ.6 ของโจทก์กับนำกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบของจำเลยหมาย จ.11มาเปรียบเทียบกับกระป๋องบรรจุขนมปังกรอบหมาย จ.4 และ จ.5 ของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่ากล่องและกระป๋องดังกล่าวของจำเลยมีขนาดเท่ากับกล่องและกระป๋องดังกล่าวของโจทก์ทั้ง 6 ด้าน รูปร่างลักษณะของกล่องและกระป๋องตลอดจนฝาก็เหมือนกัน สีและภาพต่าง ๆ ในตำแหน่งเดียวกันก็เหมือนกัน ขนาดของภาพและตัวอักษรที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกันก็เท่ากัน นอกจากนี้ยังมีตัวอักษรที่เหมือนกันคือคำว่า”CREAM CRACKERS” และคำว่า “EXTRA LIGHT” ด้วย ส่วนตัวอักษรที่ต่างกันก็คือ ของโจทก์ใช้คำว่า “JACOB & COS” ส่วนของจำเลยใช้คำว่า “CHIT CHAI CO.,LTD” ของโจทก์ใช้คำว่า “JACOB’S”ของจำเลยใช้คำว่า “DRAGON BRAND” สำหรับผู้ที่อ่านอักษรโรมันไม่ได้ หากได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยในขณะเดียวกันก็ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีอะไรแตกต่างกันบ้างแม้ผู้ที่อ่านอักษรโรมันได้ หากไม่พิจารณาให้รอบคอบ หรือได้เห็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยต่างเวลากันก็น่าจะไม่สามารถสังเกตเห็นข้อแตกต่างของเครื่องหมายการค้าได้เลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลล่างทั้งสองที่ว่าเครื่องหมายการค้าที่ปรากฏที่กล่องขนมปังกรอบหมาย จ.9และกระป๋องขนมปังกรอบหมาย จ.11 ของจำเลยมีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหลงผิดว่าสินค้าของจำเลยคือสินค้าของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามทางพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เริ่มมีการจดทะเบียนในประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 แผ่นที่ 2ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จำเลยจะเริ่มดำเนินกิจการ จึงเห็นได้ว่าการที่จำเลยผลิตสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นการลวงขายสินค้าของจำเลยว่าเป็นสินค้าของโจทก์ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้…
สำหรับปัญหาที่ว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หรือไม่นั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่ง หาใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่สามารถได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามมาตรานี้ไม่ ดังจะเห็นได้ว่าขณะที่จำเลยเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้นโจทก์ก็ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่เสมอมา จำเลยหาได้แย่งการครอบครองเครื่องหมายการค้าของโจทก์แต่ประการใดไม่”
พิพากษายืน

Share