แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้ว ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนและคู่ความจะอุทธรณ์ได้ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัว หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวได้เท่านั้น
คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่ง ให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 ซึ่งมีความหมายว่า คดีที่ศาลต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่นกรณีอุทธรณ์
ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจำคุก 6 เดือน และให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี นับแต่วันพิพากษา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2)คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน เมื่อจำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษแก่จำเลยโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาดังกล่าวตามมาตรา 124 ทั้งคดีไม่อาจมีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ.มาตรา 221โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ การที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยมานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัยให้