คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6647/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะได้บรรยายฟ้องว่า บริษัท ก.(เมืองฮ่องกง)เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุแถบบันทึกเสียงและภาพ (วีดีทัศน์) เรื่อง โหด เลว ดี ภาค 3 ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกง ซึ่งเมืองฮ่องกงเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์นซึ่งแก้ไข ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคอล เพิ่มเติมลงนาม ณ กรุงเบอร์น เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว และกฎหมายของ เมืองฮ่องกงให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริง เพราะพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2536 ได้มีบัญชีรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วย การคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์นท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว และข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกัน ทั่วไปว่า เมืองฮ่องกงอยู่ภายใต้อาณัติ ของ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ดังนั้นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ด้วยนั้นก็เป็นการบรรยาย ข้อเท็จจริงให้ครบองค์ประกอบของความผิดในกรณีที่ผู้มีลิขสิทธิ์ ได้สร้างสรรค์งานของตนตามกฎหมายในต่างประเทศที่มีกฎหมาย ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพื่อ ให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งพระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ฯ ให้ความคุ้มครองไว้เท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบ ให้เห็นว่า เมืองฮ่องกง เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์นในเวลาที่จำเลยกระทำผิด ทั้งรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญา ดังกล่าวตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อ คุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2536 ที่โจทก์ กล่าวอ้างนั้น ก็เป็นรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีในเวลา พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับคือในปี 2536 ไม่อาจรับฟัง เป็นยุติว่าประเทศตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นจะเป็น ภาคีอนุสัญญาในเวลาที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในคดีนี้คือ ในช่วงปี 2533 ด้วย จึงยังฟังไม่ได้ว่าเมืองฮ่องกงเป็นภาคีอนุสัญญาในเวลาที่จำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง อันจะมีผลให้วีดีโอเทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับ ความคุ้มครองพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 42 ดังนี้ ย่อมไม่อาจฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐาน ละเมิดลิขสิทธิ์ ลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทโกลเด้น ปรินเซสส์ ฟิล์ม โปรดักชัน จำกัดเมืองฮ่องกง เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุแถบบันทึกเสียงและภาพ (วีดีทัศน์) เรื่อง โหด เลว ดี ภาค 3(A UETTER TOMORROW III) ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1886ซึ่งแก้ไข ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคอล เพิ่มเติมลงนาม ณ กรุงเบอร์นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว และกฎหมายของเมืองฮ่องกงให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521บริษัทโกลเด้น ปรินเซสส์ ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัด เมืองฮ่องกงได้ขายและโอนลิขสิทธิ์ของงานโสตทัศนวัสดุ แถบบันทึกภาพและเสียงเรื่อง โหด เลว ดี ดังกล่าว ให้แก่บริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์ม จำกัดประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532 ต่อมาวันที่ 16มกราคม 2533 บริษัทโกลเด้นทาวน์ฟิล์ม จำกัด ประเทศไทยโอนลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุ แถบบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวให้บริษัทเอส.ที.วีดีโอ จำกัด เมื่อระหว่างวันที่ 23พฤษภาคม 2533 เวลากลางวันถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2533เวลากลางวัน จำเลยซึ่งรู้อยู่แล้วว่างานโสตทัศนวัสดุแถบบันทึกภาพและเสียง เรื่อง โหด เลว ดี ดังกล่าวจำนวน 1 ม้วนซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทเอส.ที.วีดีโอ จำกัด จำเลยเสนอให้เช่าและให้เช่าแก่ผู้มีชื่อเพื่อการค้าโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยละเมิดต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4, 27, 42, 44, 47 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526และสั่งให้ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทเอส.ที.วีดีโอ จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2522 (ที่ถูก พ.ศ. 2521)มาตรา 27(1), 42, 44 วรรคสอง พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 จำคุก 1 เดือนปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ของกลางให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมกับยึดวีดีโอเทปภาพยนตร์เรื่อง โหด เลว ดี ภาค 3จำนวน 1 ม้วน และเอกสารการให้เช่าภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นของกลางจากร้านวิไลภรณ์วีดีโอ ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าวีดีโอเทป คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาในทำนองว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดแล้วว่า บริษัทโกลเด้น ปรินเซสส์ ฟิล์ม โปรดักชั่น จำกัดเมืองฮ่องกง เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโสตทัศนวัสดุแถบบันทึกเสียงและภาพ (วีดีทัศน์) เรื่อง โหด เลว ดี ภาค 3(A BETTER TOMORROW III) ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงซึ่งเมืองฮ่องกงเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์นเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1886 ซึ่งแก้ไข ณ กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคอลเพิ่มเติมลงนาม ณ กรุงเบอร์น เมื่อวันที่ 20มีนาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวและกฎหมายของเมืองฮ่องกงให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่นซึ่งได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงเพราะพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2536 ได้มีบัญชีรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์น ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้วและข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า เมืองฮ่องกงอยู่ภายใต้อาณัติของสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือดังนั้น งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของเมืองฮ่องกงจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ด้วยนั้นเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงให้ครบองค์ประกอบของความผิดในกรณีที่ผู้มีลิขสิทธิ์ได้สร้างสรรค์งานของตนตามกฎหมายในต่างประเทศที่มีกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพื่อให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521ให้ความคุ้มครองไว้เท่านั้น แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเมืองฮ่องกงเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์น ในเวลาที่จำเลยกระทำผิด ทั้งรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2536 ที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกานั้นก็เป็นรายชื่อประเทศที่เป็นภาคีในเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับคือในปี 2536 ไม่อาจรับฟังยุติว่าประเทศตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นจะเป็นภาคีอนุสัญญาในเวลาที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดในคดีนี้คือในช่วงปี 2533 ด้วยเมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเลย จึงยังฟังไม่ได้ว่าเมืองฮ่องกงเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวในเวลาที่จำเลยกระทำผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้างอันจะมีผลให้วีดีโอเทปภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 42 ดังนี้ ย่อมไม่อาจฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share