คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6629/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยรับโอนการครอบครองมาจาก พ. โดยมีค่าตอบแทน แต่กลับให้การในตอนหลังว่า หากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนำคดีมาฟ้องเมื่อเกิน 1 ปีแล้ว นับแต่จำเลยเข้าครอบครองเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยหรือโจทก์แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงคงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานและวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์ฟ้องคดีเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจึงไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยปัญหานี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 104 เนื้อที่ประมาณ 47 ไร่ เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2532 จำเลยบุกรุกเข้าไปแผ้วถางและปลูกพืชผลในที่ดินดังกล่าวเพื่อยึดถือครอบครองเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ที่ดินที่จำเลยบุกรุกให้บุคคลอื่นเช่าได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000 บาทขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่เดือนที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่พิพาทแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์มาแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี 2517 โดยรับโอนการครอบครองมาจากนายพริ้ง เวชรัตน์ โดยมีค่าตอบแทน ต่อมาประมาณต้นปี 2531จำเลยปรับปรุงสภาพที่ดินโดยปลูกต้นยางพาราและต้นสะตอ จำเลยครอบครองที่ดินโดยเจตนายึดถือเพื่อตนเองมาโดยตลอด ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาตั้งแต่ปี 2517 หากที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเมื่อเกิน 1 ปีแล้ว นับแต่จำเลยเข้าครอบครองที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ แต่โจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองเนื้อที่ประมาณ8 ไร่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับเรียกค่าเสียหาย จำเลยให้การในตอนแรกว่า หนังสือรับรองการทำประโยชน์ของโจทก์ออกทับที่ดินที่จำเลยครอบครองทำประโยชน์เนื้อที่ 12 ไร่ โจทก์ไม่เคยครอบครอง จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์มาแต่เพียงผู้เดียวตั้งแต่ปี 2517 โดยรับโอนการครอบครองมาจากนายพริ้ง เวชรัตน์ โดยมีค่าตอบแทน จำเลยครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนเองมาโดยตลอดซึ่งเท่ากับว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทสืบต่อจากนายพริ้งผู้มีสิทธิครอบครองเดิม แต่จำเลยกลับให้การในตอนหลังว่า หากที่ดินที่จำเลยครอบครองเป็นของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเมื่อเกิน 1 ปีแล้ว นับแต่จำเลยเข้าครอบครองที่ดินซึ่งเท่ากับว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยหรือของโจทก์และเป็นคำให้การที่ขัดแย้งกับคำให้การในตอนแรกของจำเลยเองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง แต่คำให้การของจำเลยเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงคงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ และโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด ตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ในประเด็นข้อ 1และข้อ 3 เท่านั้น ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องคดีเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ ตามที่ศาลชั้นต้นชี้สองสถานไว้ในข้อ 2 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อนี้และวินิจฉัยมาด้วยนั้น กับที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเมื่อคดีไม่อาจมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่พิพาทเกิน 1 ปีหรือไม่ เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3ฎีกาโจทก์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนประเด็นข้อพิพาทที่ว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จำเลยก็มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือมิได้โต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ประเด็นข้อนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงต้องฟังว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้ ฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่าโจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใด ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวน ในประเด็นดังกล่าวโจทก์นำสืบตนเองเป็นพยานปากเดียวเบิกความลอย ๆ ว่าที่พิพาทถ้าให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาทโดยไม่มีพยานอื่นใดสนับสนุน เห็นว่า ที่พิพาทเป็นที่สวนยางไม่ปรากฏว่าสามารถให้ผลผลิตได้มากน้อยเท่าใด และมีราคาเพียง125,900 บาท ข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าจะสามารถให้เช่าได้เดือนละ3,000 บาท นับว่าสูงเกินควร เมื่อคำนึงถึงสภาพของที่ดินตลอดจนที่ตั้งแล้วสมควรกำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป”
พิพากษากลับให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาทของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบที่พิพาทแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย

Share