คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์อ้างส่งหนังสือรับรอง ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัท ส. และเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนและประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างในเรื่องความเกี่ยวพันของจำเลยที่ 2 กับบริษัทดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีนี้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีความเกี่ยวพันกับบริษัทดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 2 ยังคงประกอบกิจการด้วยตนเองในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ ประกอบมาตรา 207 การที่ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าการขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาของคู่ความที่ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันควรและผู้ขอมีทางชนะคดีได้
การที่จำเลยที่ 2 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 ก็เพื่อหลบหนีการจับกุมตัวมาดำเนินคดีอาญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องดำเนินการขอให้ทางประเทศแคนาดาออกหมายจับและควบคุมตัวของจำเลยที่ 2 ไว้ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2539 แล้วดำเนินเรื่องขอส่งตัวกลับมาในราชอาณาจักร จนได้ตัวจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดีในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ภายหลังจำเลยที่ 2 เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลากว่า 13 ปีแสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าไม่ประสงค์ต่อสู้คดีทุกเรื่องที่ถูกฟ้องในประเทศไทย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 หลบหนีคดีอาญาไปนอกราชอาณาจักรเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เองจะนำมาอ้างในทำนองว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้เพื่อขอให้พิจารณาคดีในสำนวนของจำเลยที่ 2 ใหม่หาได้ไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจาก ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด จำเลยที่ 2 ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว จึงยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เมื่อพ้นระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว และจำเลยที่ 2 ไม่มีหลักฐานแสดงว่า จำเลยที่ 2 จะชนะคดี ขอให้ยกคำขอ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำขอ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อ้างส่งสำเนาหนังสือรับรอง ระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของบริษัทสเปเชียล แอสเซ็ตส์ จำกัด และเคยเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนและประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานหลักฐานมาหักล้างในเรื่องความเกี่ยวพันของจำเลยที่ 2 กับบริษัทดังกล่าวจนถึงวันฟ้องคดีนี้ จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 2 ยังคงมีความเกี่ยวพันกับบริษัทดังกล่าว ถือว่าจำเลยที่ 2 ยังคงประกอบกิจการด้วยตนเองหรือตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปว่า กรณีมีเหตุอันควรอนุญาตให้พิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ใหม่ หรือไม่ เห็นว่า กระบวนพิจารณาในกรณีขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 เบญจ ประกอบมาตรา 207 การที่ศาลจะอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่จะต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่า การขาดนัดยื่นคำให้การหรือขาดนัดพิจารณาของคู่ความที่ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันควรและผู้ขออาจมีทางชนะคดีได้ เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานและข้ออ้างของจำเลยที่ 2 แล้ว ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ออกไปนอกราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2539 เพิ่งกลับเข้ามาในราชอาณาจักรในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ตามสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3054/2552 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ จำเลยที่ 2 จึงมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาคดีนี้นั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 เดินทางออกนอกราชอาณาจักรในวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 ก็เพื่อหลบหนีการจับกุมตัวมาดำเนินคดีอาญา หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจนสำนักงานอัยการสูงสุดต้องดำเนินการขอให้ทางการประเทศแคนาดาออกหมายจับและควบคุมตัวของจำเลยที่ 2 ไว้ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2539 แล้วดำเนินเรื่องขอส่งตัวกลับมาในราชอาณาจักร จนได้ตัวจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดีในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ภายหลังจำเลยที่ 2 เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลากว่า 13 ปี แสดงถึงเจตนาของจำเลยที่ 2 ว่าไม่ประสงค์ต่อสู้คดีทุกเรื่องที่ถูกฟ้องในประเทศไทย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 หลบหนีคดีอาญาไปนอกราชอาณาจักรเป็นเหตุที่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 เอง จะนำมาอ้างในทำนองว่าเป็นพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ เพื่อขอให้พิจารณาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ใหม่ หาได้ไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะให้พิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share